ชะตากรรมของไทใหญ่(Makong Corridor / ทรงฤทธิ์ โพนเงิน )
การจับกุมผู้นำชาวไทใหญ่อย่างน้อย 7 คน ทั้งที่อยู่ในพรรคการเมืองและกลุ่มกองกำลังติดอาวุธที่เซ็นสัญญาสงบศึกกับรัฐบาลแล้ว เมื่อสัปดาห์ก่อน ได้สะท้อนให้เห็นท่าทีที่ชัดเจนอย่างยิ่งของรัฐบาลทหารพม่า ว่าต้องการจะล้างบางบรรดาชนกลุ่มน้อยทั้งหลายให้หมดไปจากเวทีการเมืองให้ได้
บรรดาผู้นำไทใหญ่ที่ถูกจับกุมในคราวนี้ นับว่าเป็นคนสำคัญมาก ซึ่งถ้าหากไม่มีพวกเขาเสียแล้วย่อมหมายความว่ากิจกรรมทางการเมืองชาวไทใหญ่ทั้งมวล ทั้งในย่างกุ้งและเมืองสำคัญๆ ของพม่าแทบจะหายไปอย่างสิ้นเชิง
คนที่ถูกจับเมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ประกอบไปด้วย ขุนตุนอู ประธานพรรคสันนิบาตแห่งชนชาติฉานเพื่อประชาธิปไตย (Shan National League for Democracy - SNLD) ชายยุ้นต์วิน เลขาธิการพรรค ชายลาอ่อง, ชายจ่าอุต สมาชิกพรรค นอกจากนี้ยังมีนักการเมืองอาวุโส อูฉ่วยอ่อง, อู มิ้นต์ ตัน ผู้นำกลุ่มเยาวชน และผู้นำกองทัพแห่งชาติรัฐฉาน (Shan State National Army - SSNA) คือ เจ้าเต็ง ซึ่งเป็นผู้นำกองกำลังติดอาวุธของไทใหญ่ที่มีฐานที่มั่นอยู่ในเขตภาคเหนือของพม่า ซึ่งได้ลงนามสงบศึกกับรัฐบาลทหารพม่าไปเรียบร้อยแล้ว
ยังไม่เป็นที่แน่ชัดนักว่า ทางการพม่าจับกุมผู้นำชาวไทใหญ่เหล่านี้ด้วยความผิดฐานใด เพราะไม่ได้มีถ้อยแถลงออกมาจากรัฐบาล มีข่าวที่พูดกันในหมู่ชาวไทใหญ่ว่า กรณีการจับกุมเจ้าเต็งของ SSNA เพราะข้อกล่าวหาของรัฐบาลพม่า ว่า เจ้าเต็งเข้ายุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง ถือเป็นการละเมิดสัญญาหยุดยิงที่ห้ามชนกลุ่มน้อยที่ลงนามในสัญญาดังกล่าวแล้ว ห้ามเกี่ยวข้องกับกิจกรรมทางการเมืองโดยเด็ดขาด
แต่สำหรับของกรณีของบรรดานักการเมืองในพรรค SNLD แล้วไม่มีใครเดาออกเลยว่าทำไมพวกเขาจึงถูกจับ มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเนื่องจากเหตุผลเดียวกันคือ มีการติดต่อกับกองกำลังประกอบอาวุธ เพราะก่อนหน้ามีข่าวว่า อูฉ่วยอ่อง เดินทางไปตองจีเพื่อพบปะกับสมาชิกของ SSNA เพื่อหารือกันเกี่ยวกับอนาคตของรัฐฉาน (ไทใหญ่) และบทบาทของกองกำลังที่ลงนามสงบศึกกับรัฐบาลแล้วในการประชุมสมัชชาแห่งชาติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีกำหนดเริ่มการประชุมในวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้
ความจริงการพบปะหารือกันแค่นี้ ไม่ควรถือเป็นความผิดอะไร เพราะเมื่อก่อนนี้ไม่เห็นเคยถือว่าเป็นความผิดตามกฎหมายแต่อย่างใด พรรค SNLD ของขุนตุนอู เป็นพรรคการเมืองหนึ่งที่ได้รับการเลือกตั้งในปี 1990 ได้ที่นั่งรองจากพรรค National League for Democracy ของออง ซาน ซูจี ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองมาในลักษณะเดียวกัน และในหลายกรณีดูเหมือนว่า SNLD จะประนีประนอมมากกว่า NLD ของออง ซาน ซูจีด้วยซ้ำไป เพราะเคยเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับรัฐบาลทหารพม่า
ส่วนตัวขุนตุนอูนั้น ถือได้ว่าเป็นผู้แทนของชนกลุ่มน้อยทั้งมวลในระบบการเมืองพม่า เพราะทุกครั้งที่ราซาลี อิสมาอิล ผู้แทนเลขาธิการสหประชาชาติเดินทางไปย่างกุ้งก็จะพบกับขุนตุนอู เพื่อหารือเรื่องบทบาทของชนกลุ่มน้อย ถ้าพูดว่าการเมืองพม่ามี 3 ฝ่าย คือ รัฐบาลทหาร ฝ่ายค้านคือ ออง ซาน ซูจี และขุนตุนอูก็คือฝ่ายที่ 3 ซึ่งเป็นส่วนของชนกลุ่มน้อย
ส่วนกองกำลังติดอาวุธ SSNA ไม่ใช่คนแปลกหน้าสำหรับรัฐบาลพม่าแต่อย่างใด เพราะกองกำลังนี้แตกออกจาก Mong Tai Army ของขุนส่า ตอนปลายปี 1995 ก่อนที่ขุนส่าจะยอมแพ้มอบตัว พ.อ.ก้านยอด และผู้อาวุโส โปเตวิง พาไพร่พลจำนวนหนึ่งหนีออกไปเซ็นสัญญาสงบศึกกับรัฐบาลแล้วตั้งฐานอยู่ในป่าระหว่างทางสีป้อ-ล่าเซี่ยว ไม่ได้รบทัพจับศึกนับแต่นั้นมา กระทั่งปัจจุบันก็นับเวลาได้เกือบทศวรรษแล้ว ผู้นำรุ่นก่อตั้งอย่างก้านยอด ก็เสียชีวิตไปตั้งแต่ปีที่แล้ว กองกำลังที่เหลืออยู่ไม่ควรถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อกองทัพพม่าแต่อย่างใด
จริงๆ แล้วการติดต่อกันระหว่างคนของ SNLD และ SSNA ไม่ได้เป็นความลับเลย คนของ SNLD ในสำนักงานที่ตองจี ก็ติดต่อไปมาหาสู่กับคนของ SSNA ในสีป้อ-ล่าเซี่ยว อยู่เป็นประจำ จนอาจจะเรียกได้ว่าเป็นประจำวันเลยก็ว่าได้ และทหารพม่าก็รับรู้เรื่องนี้มาโดยตลอด ในช่วงสมัยที่ พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ ยังอยู่ในอำนาจไม่เห็นมีใครว่าเรื่องนี้เป็นความผิดอะไร แต่พออำนาจทางการเมืองในคณะทหารในย่างกุ้งเปลี่ยนแปลงไป เรื่องที่เคยทำกันเป็นปกติกลับกลายเป็นความผิดไป
การจับกุมผู้นำไทใหญ่ในคราวนี้ เป็นสัญญาณที่แรงที่สุดที่ส่งออกมาถึงชาวไทใหญ่ที่อยู่ตามแนวชายแดนไทย โดยเฉพาะในกลุ่มที่อยู่ภายใต้การนำของ พ.อ.ยอดศึก แห่งกองทัพรัฐฉาน (Shan State Army - SSA) เพราะกลุ่มนี้เป็นกลุ่มติดอาวุธที่ไม่ได้เซ็นสัญญาสงบศึกกับทางการพม่าแต่อย่างใด และอยู่ในเป้าหมายที่ทหารพม่าจะต้องทำลายมาโดยตลอด
SSA และ SSNA มีที่มาจากแห่งเดียวกัน กล่าวคือ ทั้งคู่ล้วนเคยอยู่กับขุนส่า แต่พอขุนส่ายอมสวามิภักดิ์ ก้านยอดพาพวกไปยอมเซ็นสัญญากับรัฐบาล แต่ยอดศึกหันมาทางไทย ตั้งฐานที่มั่นอยู่ดอยไตแลง อาศัยอิทธิพลไทย คุ้มครองต้านทานพม่ามาได้หลายปี มาบัดนี้สถานการณ์ทางการเมืองในพม่าเปลี่ยนแปลงไปมาก พวกที่มีอำนาจอยู่ปัจจุบันไม่ใช่พวกประนีประนอม พวกเขาถือตัวว่าเป็นทหารอาชีพที่มีแต่จะต้องปราบศัตรูให้สิ้นซาก บรรดาชนกลุ่มน้อยไม่ว่าจะอาศัยร่มเงาของใครอยู่ก็ตาม ไม่มีทีท่าว่าจะรอดพ้นไปได้
ถ้าเป็นสมัยที่รัฐบาลไทยไม่โอนอ่อนตามพม่าขนาดนี้ พ.อ.ก้านยอด และพลพรรค SSA ของเขาพอจะเยาะเย้ยพวก SSNA ได้ว่าเลือกผิดข้าง แต่มาวันนี้สถานการณ์ของทั้งสองกลุ่ม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง บรรดาไทใหญ่ทั้งมวล ดูไม่ค่อยต่างกันเท่าใด คือกำลังจะถูกพม่าบดขยี้
รัฐบาลไทยคงไม่ช่วยใคร หรือถ้าพูดให้ถูกต้องคือ ช่วยใครไม่ได้ เพราะกระทั่งถึงปัจจุบันยังต่อสายไม่ติด การส่ง พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร ผู้บัญชาการทหารสูงสุดไปย่างกุ้งเมื่อเร็วๆ นี้ ยังไม่สามารถเปิดสายสัมพันธ์กับกลุ่มอำนาจใหม่ได้ แม้รัฐบาลจะส่งผู้นำทหารไปเจริญสัมพันธไมตรีก็ดูไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นเท่าใดนัก เพราะทหารพม่าชุดนี้เคยมีประสบการณ์ตรงกับแนวชายแดนมาแล้วทั้งนั้น นับแต่ ผู้อาวุโสสูงสุดอย่าง ตัน ฉ่วย, หม่อง เอ ไปจนถึงรุ่นหลังอย่าง เต็ง เส่ง เลขาธิการที่ 1 ของสภาทหาร อดีตผู้บัญชาการสามเหลี่ยมทองคำก็รู้สมรภูมิกูเต็งนาโยงดี เขารู้ซึ้งถึงความสัมพันธ์ระหว่างยอดศึกกับฝ่ายไทยเป็นอย่างดี
ยุทธศาสตร์ของคณะทหารพม่าในย่างกุ้งในเวลานี้ คือ ต้องทำเป็นใจแข็ง บึ้งตึงกับไทยเอาไว้ก่อน เพื่อบีบให้รัฐบาลไทยไปบีบพวกไทใหญ่อีกต่อหนึ่ง เพื่อเป็นการเปิดช่องให้กองทัพพม่าเข้าจัดการกับไทใหญ่ได้สะดวกมือ
เวลานี้ พ.อ.ยอดศึก และบรรดาไพร่พลใน SSA ต่างอ่านเกมออก จึงได้พากันหลบซ่อนตัว พยายามไม่พบปะนักข่าวไทยเท่าใดนัก บรรดากระบอกเสียงขาประจำก็ไม่ค่อยไปประชาสัมพันธ์ให้เหมือนก่อน ฝ่ายไทยก็ไม่ส่งเสริมให้มีข่าวของไทใหญ่มากนัก เพราะมันเป็นการเผยไต๋ให้พม่ารู้ความสัมพันธ์กับยอดศึก ดีไม่ดี หากพม่าต้องการจะเผด็จศึกไทใหญ่ อาจจะทำให้สัมพันธ์กับรัฐบาลไทยพลอยร้าวฉานไปอีก และนั่นจะทำให้ปัญหายุ่งยากซับซ้อนเกินความจำเป็น
: หนองปลาปาก : ตำบลกวนวัน : ตำบลในเมือง : ตำบลค่ายบกหวาน : ตำบลบ้านเดื่อ : ตำบลพระธาตุบังพวน : ตำบลปะโค : ตำบลโพนสว่าง : ตำบลโพธิ์ชัย : ตำบลเมืองหมี : ตำบลมีชัย : ตำบลเวียงคุก : ตำบลวัดธาตุ : ตำบลสีกาย : ตำบลหาดคำ : ตำบลหนองกอมเกาะ : ตำบลหินโงม : ตำบลกุดบง : ตำบลชุมช้าง : ตำบลจุมพล : ตำบลทุ่งหลวง : ตำบลเซิม : ตำบลนาหนัง : ตำบลบ้านโพธิ์ : ตำบลบ้านผือ : ตำบลวัดหลวง : ตำบลสร้างนางขาว : ตำบลเหล่าต่างคำ : ตำบลกองนาง : ตำบลท่าบ่อ : ตำบลโคกคอน : ตำบลน้ำโมง : ตำบลนาข่า : ตำบลบ้านเดื่อ : ตำบลบ้านถ่อน : ตำบลโพนสา : ตำบลบ้านว่าน : ตำบลหนองนาง : ตำบลนาดี : ตำบลเฝ้าไร่ : ตำบลหนองหลวง : ตำบลวังหลวง : ตำบลอุดมพร : ตำบลบ้านต้อน : ตำบลนาทับไฮ : ตำบลพระบาทนาสิงห์ : ตำบลโพนแพง : ตำบลบ้านหม้อ : ตำบลรัตนวาปี : ตำบลพระพุทธบาท : ตำบลพานพร้าว : ตำบลแก้งไก่ : ตำบลบ้านม่วง : ตำบลนางิ้ว : ตำบลผาตั้ง : ตำบลสังคม : ตำบลโพนทอง : ตำบลด่านศรีสุข : ตำบลโพธิ์ตาก : ตำบลสระใคร : ตำบลบ้านฝาง : ตำบลคอกช้าง
วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2553
ชะตากรรมของไทใหญ่(Makong Corridor / ทรงฤทธิ์ โพนเงิน )
เขียนโดย
Thai Writer
ที่
00:38
ส่งอีเมลข้อมูลนี้BlogThis!แชร์ไปยัง Xแชร์ไปที่ Facebookแชร์ใน Pinterest
เรื่องน่าสนใจเกี่ยวเนื่องกัน:
ป้ายกำกับ:
อาเซียน