: หนองปลาปาก : ตำบลกวนวัน : ตำบลในเมือง : ตำบลค่ายบกหวาน : ตำบลบ้านเดื่อ : ตำบลพระธาตุบังพวน : ตำบลปะโค : ตำบลโพนสว่าง : ตำบลโพธิ์ชัย : ตำบลเมืองหมี : ตำบลมีชัย : ตำบลเวียงคุก : ตำบลวัดธาตุ : ตำบลสีกาย : ตำบลหาดคำ : ตำบลหนองกอมเกาะ : ตำบลหินโงม : ตำบลกุดบง : ตำบลชุมช้าง : ตำบลจุมพล : ตำบลทุ่งหลวง : ตำบลเซิม : ตำบลนาหนัง : ตำบลบ้านโพธิ์ : ตำบลบ้านผือ : ตำบลวัดหลวง : ตำบลสร้างนางขาว : ตำบลเหล่าต่างคำ : ตำบลกองนาง : ตำบลท่าบ่อ : ตำบลโคกคอน : ตำบลน้ำโมง : ตำบลนาข่า : ตำบลบ้านเดื่อ : ตำบลบ้านถ่อน : ตำบลโพนสา : ตำบลบ้านว่าน : ตำบลหนองนาง : ตำบลนาดี : ตำบลเฝ้าไร่ : ตำบลหนองหลวง : ตำบลวังหลวง : ตำบลอุดมพร : ตำบลบ้านต้อน : ตำบลนาทับไฮ : ตำบลพระบาทนาสิงห์ : ตำบลโพนแพง : ตำบลบ้านหม้อ : ตำบลรัตนวาปี : ตำบลพระพุทธบาท : ตำบลพานพร้าว : ตำบลแก้งไก่ : ตำบลบ้านม่วง : ตำบลนางิ้ว : ตำบลผาตั้ง : ตำบลสังคม : ตำบลโพนทอง : ตำบลด่านศรีสุข : ตำบลโพธิ์ตาก : ตำบลสระใคร : ตำบลบ้านฝาง : ตำบลคอกช้าง

วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2553

การเมืองเขมรตกหล่ม(Makong Corridor / ทรงฤทธิ์ โพนเงิน )

การเมืองเขมรตกหล่ม(Makong Corridor / ทรงฤทธิ์ โพนเงิน )

ครั้นแล้วก็ถึงคราวที่ สัม รังสี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านเพียงหนึ่งเดียวของกัมพูชา ต้องระหกระเหินออกนอกประเทศอีกครั้ง เมื่อสมาชิกสภาแห่งชาติในสังกัดพรรคฟุนซินเปก ของเจ้านโรดม รณฤทธิ์ กับพรรคประชาชนกัมพูชา ของทั้ง เจีย ซิม และ ฮุน เซน ได้ลงมติถอดถอนเอกสิทธิคุ้มครองในฐานะที่เขาเป็นสมาชิกสภาแห่งชาติคนหนึ่ง

โดยถึงแม้ว่าการลงมติดังกล่าวนี้จะต้องใช้เสียงสนับสนุนถึง 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกสภาแห่งชาติเขมรที่มีอยู่ทั้งหมด 123 เสียงก็ตาม แต่ด้วยเหตุที่ทั้ง ฮุน เซน และเจ้ารณฤทธิ์ ต่างก็ต้องการที่จะเล่นงาน สัม รังสี เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องยากเลยที่ 73 เสียงของพรรคประชาชนฯ กับ 26 เสียงของพรรคฟุนซินเปก จะลงมติร่วมกันในการนี้อย่างพร้อมหน้า

เนื่องเพราะการลงมติถอดถอนเอกสิทธิคุ้มครองของ สัม รังสี ในครั้งนี้ หาได้มีเป้าหมายเพียงเพื่อเป็นการเปิดทางให้ทั้ง ฮุน เซน และเจ้ารณฤทธิ์ สามารถที่จะฟ้องร้องต่อศาลเพื่อดำเนินคดีกับ สัม รังสี ร่วมกันได้ถึง 4 คดีเท่านั้น

หากแต่เป้าหมายที่เป็นจริงในท้ายสุดของเรื่องนี้ ยังรวมไปถึงการสกัดกั้นและการทำลายบทบาททางการเมืองของพรรคสัม รังสี เพื่อไม่ให้สามารถที่จะคอยจ้องจับผิดในการกระทำอย่างใดๆ ของทั้ง ฮุน เซน และเจ้ารณฤทธิ์ ได้อีกต่อไปด้วย

ดังจะเห็นได้อย่างชัดเจน จากการลงมติของสมาชิกทั้งพรรคฟุนซินเปกและพรรคประชาชนกัมพูชาในครั้งนี้หาได้ถอดถอนเพียงเอกสิทธิคุ้มครองของ สัม รังสี เท่านั้น หากยังได้รวมไปถึงแกนนำสำคัญอีกสองคนของพรรคสัม รังสี ด้วยในเวลาเดียวกัน

กล่าวคือ เจียม จันนี รองหัวหน้าพรรคสัม รังสี ซึ่งในเวลานี้ได้ถูกศาลทหารเขมรในกรุงพนมเปญ ควบคุมตัวไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว กับ เจีย พจน์ หนึ่งในทีมงานวางแผนการเคลื่อนไหวทางการเมืองผู้ใกล้ชิดของ สัม รังสี ซึ่งจำต้องหลบลี้หนีภัยไปพำนักอยู่ในสหรัฐอเมริกา หลังจากที่ สัม รังสี ได้หลบฉากไปอยู่ที่กรุงปารีสแล้วก่อนหน้านี้

ดังนั้น จึงเป็นที่แน่นอนว่า สถานการณ์ภายในพรรคสัม รังสี ในเวลานี้ ย่อมจะอุดมไปด้วยความสับสนวุ่นวายอย่างยิ่ง

ทั้งนี้ เพราะการที่พรรคฯ ต้องขาดทั้งหัวหน้าและรองหัวหน้า ตลอดจนบุคลากรคนสำคัญในการวางแผนการเคลื่อนไหวทางการเมืองของพรรคฯ เช่นนี้ ก็น่าจะก่อให้เกิดการหวาดหวั่นในเหล่าสมาชิกพรรคฯ ได้อย่างมากแล้ว แต่การที่ไม่รู้ด้วยว่าเรื่องราวในครั้งนี้จะจบลงอย่างไร และเมื่อใดด้วยนั้น ย่อมนับเป็นสถานการณ์ที่ยากยิ่งกว่ามาก

เนื่องเพราะคดีความที่ทั้ง ฮุน เซน และ เจ้ารณฤทธิ์ จ้องที่จะฟ้องร้องต่อศาลเพื่อดำเนินคดีกับ สัม รังสี พร้อมด้วยแกนนำสำคัญของพรรคฯ อีก 2 คนดังกล่าวนี้ มิใช่กรณีที่เป็นการฟ้องหมิ่นประมาทธรรมดาๆ หรือในฐานความผิดที่ สัม รังสี ได้กล่าวหาว่าผู้นำพรรคฟุนซินเปกรับสินบนจาก ฮุน เซน เพื่อแลกกับการยินยอมเข้าร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสมชุดใหม่ของกัมพูชาเมื่อเดือนกรกฎาคม 2004 ที่ผ่านมาเท่านั้น

หากยังเป็นคดีความที่มีโทษจำคุกรุนแรงถึงขนาดที่สามารถจะกำจัด สัม รังสี ให้หลุดออกไปจากวงการทางการเมืองในกัมพูชาได้ถึง 20 ปีเป็นอย่างน้อย นั่นย่อมหมายถึงการหมดอนาคตทางการเมืองไปเลย ถ้าหากศาลทหารเขมรที่กรุงพนมเปญได้ตัดสินว่า สัม รังสี มีความผิดจริงตามการฟ้องของ ฮุน เซน และเจ้ารณฤทธิ์ ในทั้ง 4 คดี

กล่าวคือ การกล่าวหาว่าเจ้ารณฤทธิ์ รับสินบนจาก ฮุน เซน เพื่อแลกกับการยอมร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสม พร้อมทั้งกล่าวหาว่า เจ้ารณฤทธิ์ เรียกรับสินบนเพื่อแลกกับการที่จะลงนามอนุมัติให้บริษัทเอกชนรับเหมาก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่

ส่วนอีก 2 คดีความที่เหลือนั้น เป็นคดีที่ทั้ง ฮุน เซน และเจ้ารณฤทธิ์ ร่วมกันเป็นโจทก์ฟ้องหมิ่นประมาท เนื่องจากถูก สัม รังสี กล่าวหาว่าเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังในการวางแผนการลอบสังหารนักการเมืองฝ่ายค้านหลายคน และคดีที่ ฮุน เซน กล่าวหาว่าพรรคสัม รังสี ได้จัดตั้งกองกำลังนอกกฎหมายขึ้นมาเพื่อจะโค่นล้มอำนาจของรัฐบาลผสมฯ

หากจะว่าไปแล้ว สภาพการณ์เช่นนี้หาได้มีความแตกต่างไปจากสถานการณ์ที่ได้เกิดขึ้นในช่วงปี 1994 หรือเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้วแต่อย่างใด

โดยสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนั้น ก็คือการที่เจ้ารณฤทธิ์ และ ฮุน เซน ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีร่วมกัน ได้ดำเนินการถอดถอน สัม รังสี ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ-การคลังในสังกัดพรรคฟุนซินเปกของเจ้ารณฤทธิ์

แน่นอนว่าการประสานมือระหว่างเจ้ารณฤทธิ์ กับ ฮุน เซน ในเวลานั้น ย่อมไม่มีสิ่งใดที่จะสามารถทัดทานได้

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่ว่าภายหลังจากที่ได้ปลด สัม รังสี ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีดังกล่าวแล้วนั้น ยิ่งทำให้เขาได้ดำเนินการตรวจสอบการบริหารของรัฐบาลอย่างใกล้ชิดมากขึ้น โดยอาศัยสถานะของการเป็นสมาชิกสภาแห่งชาติในสังกัดพรรคฟุนซินเปกของเจ้ารณฤทธิ์ นั่นเอง

การดำรงบทบาทของสัม รังสี ในเวลานั้น ไม่เพียงจะดำเนินการเปิดโปงกลวิธีในการทุจริตคอร์รัปชันภายในวงการรัฐบาล และการมีส่วนในผลประโยชน์ของอำนาจบริหารระดับท้องถิ่นในการค้าไม้เถื่อนและการค้าหนีภาษีในทั่วประเทศเท่านั้น

หากแต่การที่ สัม รังสี ได้นำเสนอข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชันในวงการรัฐบาลกัมพูชาไปสู่การรับรู้ของบรรดาประเทศผู้บริจาคให้ความช่วยเหลือแก่รัฐบาลกัมพูชาด้วยนั้น ยังได้กลายเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เขาต้องถูกเจ้ารณฤทธิ์ ขับออกจากพรรคฟุนซินเปก อันหมายถึงการหมดสมาชิกภาพจากสภาแห่งชาติด้วยในเวลาเดียวกัน

แน่นอนว่าผู้ที่มีความพึงพอใจในการที่ สัม รังสี มีอันต้องหลุดออกไปจากวงการอำนาจทางการเมืองของกัมพูชามากที่สุดในเวลานั้น ย่อมไม่มีใครอื่นใดที่จะแสดงความดีใจจนออกนอกหน้าเหมือนกับ ฮุน เซน

เนื่องเพราะเขาได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในเวลานั้นด้วยการประกาศที่ว่าเขาจะเป็นนายกรัฐมนตรีร่วมกับเจ้ารณฤทธิ์ ต่อไปจนถึงปี 2010 เป็นอย่างน้อย ในขณะที่เจ้ารณฤทธิ์ นั้น ก็ได้แสดงความประทับใจถึงขนาดที่ได้กล่าวเน้นย้ำอย่างหนักแน่นต่อวงกว้างว่า พระองค์กับฮุน เซน เป็นนายกรัฐมนตรี (แฝด) ที่บริหารงานเข้าขากันอย่างยิ่ง

ครั้นแล้ว ฮุน เซน ก็ได้ก่อรัฐประหารและยึดอำนาจทางการเมืองในกลางปี 1997 อันเป็นเหตุทำให้เจ้ารณฤทธิ์ ต้องหลบหนีออกนอกประเทศอย่างหัวซุกหัวซุน และได้หันกลับไปคืนดีกับ สัม รังสี เพื่อเคลื่อนไหวกดดันรัฐบาลของ ฮุน เซน ในเวทีสากล จนทำให้ ฮุน เซน ต้องยินยอมและจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในปี 1998

แน่นอนว่าการที่ ฮุน เซน ยินยอมดังกล่าวนั้น หาได้เป็นเพราะความเกรงกลัวที่มีต่อเจ้ารณฤทธิ์ และ สัม รังสี ที่เคลื่อนไหวกดดันอยู่นอกประเทศแต่อย่างใดไม่ หากเป็นเพราะการขาดแคลนทางด้านงบประมาณ เนื่องจากถูกนานาชาติตัดความช่วยเหลือในทุกๆ ด้าน โดยผู้ที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวเพื่อให้นานาชาติ ปฏิบัติเช่นนี้ในทุกๆ ครั้งที่การเมืองกัมพูชามีปัญหาก็คือ สัม รังสี นั่นเอง

ฉะนั้น การที่ ฮุน เซน และเจ้ารณฤทธิ์ ได้ร่วมกันเล่นงาน สัม รังสี จนต้องเดินระหกระเหินออกนอกประเทศไปตั้งหลักอยู่ที่กรุงปารีสในครั้งนี้ จึงหาได้มีความแตกต่างกับเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้วแต่อย่างใด

ด้วยเหตุนี้ จึงนับเป็นสถานการณ์ทางการเมืองที่เสี่ยงอย่างยิ่งที่รัฐบาลชุดนี้ของกัมพูชา ภายใต้การเป็นนายกรัฐมนตรีเพียงหนึ่งเดียวโดย ฮุน เซน นั้น อาจจะต้องเผชิญกับกระแสกดดันจากนานาชาติจนต้องถูกตัดความช่วยเหลืออีกครั้งก็เป็นได้

เพราะกระแสที่เกิดขึ้นในเวลานี้ไม่เพียงเฉพาะทางการสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่ได้ออกแถลงการณ์ประณามการลงมติของสมาชิกสภาแห่งชาติกัมพูชาดังกล่าวนี้ หากแต่ทางด้านองค์การสหประชาชาติที่เคยทุ่มงบประมาณไปกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐเพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไปของกัมพูชาในปี 1993

ทั้งยังได้พยายามที่จะสรรหางบประมาณอีกเกือบ 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อใช้ในการดำเนินคดีอาชญากรสงครามกับอดีตผู้นำเขมรแดงด้วยนั้น ยังได้ออกแถลงการณ์ประณามสภาแห่งชาติกัมพูชาในกรณีดังกล่าวนี้ด้วยเช่นกัน

เนื่องเพราะในสายตาของนานาชาติที่บริจาคให้ความช่วยเหลือแก่กัมพูชาหา ได้มองว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพียงเหตุการณ์ธรรมดาๆ เท่านั้น หากแต่ได้มองไปถึงขนาดว่าเป็นภาพสะท้อนถึงการไร้ซึ่งพัฒนาการทางการเมืองในกัมพูชาเลยทีเดียว!!!