30 ปีจากนครไซ่ง่อนสู่โฮจิมินห์ ซิตี้(Makong Corridor / ทรงฤทธิ์ โพนเงิน )
ย้อนเวลาไปเมื่อ 30 ปีก่อน เด็กๆ ที่อาศัยอยู่ใกล้ๆ ฐานทัพในจังหวัดอุดรธานี และนครราชสีมา จะคุ้นกับเสียงเครื่อง B-52 ที่ขนลูกระเบิดไปทิ้งในประเทศเพื่อนบ้านในอินโดจีนเป็นอย่างดี เพียงแต่จะไม่เข้าใจว่าทำไมเครื่อง B-52 ที่ขึ้น-ลงทุกๆ 15 นาทีถึงต้องมีการขนเอาระเบิดอย่างมากมายไปทิ้งในกลุ่มประเทศอินโดจีนเช่นนั้น
แต่สุดท้ายเมื่อวันที่ 30 เมษายน 1975 กองทัพสหรัฐอเมริกา ที่ว่าเปี่ยมด้วยแสนยานุภาพอันยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก ก็ต้องรีบออกจากกรุงไซ่ง่อนแทบไม่ทัน ซึ่งคงพอจะจำกันได้ว่าภาพถ่ายที่มีผู้คนอย่างมากมายต่างพากันพยายามปืนขึ้นเฮลิคอปเตอร์บนหลังคาของสถานทูตสหรัฐในไซ่ง่อน ในวันที่รถถังเวียดกงบุกเข้าทำเนียบประธานาธิบดีเวียดนามใต้นั้นเป็นอย่างไร
ครั้นต่อมาไม่นาน ชาวโลกก็ได้รับรู้ว่าสงครามอินโดจีนได้คร่าชีวิตชาวเวียดนามไปกว่า 3 ล้านคน ส่วนทหารอเมริกันกว่า 58,000 คน ก็ได้สังเวยชีวิตไปพร้อมๆ กับเหล่าทหารรับจ้างจากไทย ฟิลิปปินส์และออสเตรเลีย อีกจำนวนมาก
แน่นอนว่าหากพิจารณาจากความสูญเสียดังกล่าว ย่อมจะเห็นได้ว่าเป็นสิ่งที่ไม่มีความสมดุลกันแต่อย่างใด หากแต่บทสรุปของสงครามในครั้งนั้นก็คือเวียดนามเหนือเป็นฝ่ายชนะสงคราม อันนำไปสู่การรวมเวียดนามเหนือและใต้เป็น 'สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม' กระทั่งในทุกวันนี้
ส่วนกรุงไซ่ง่อน ซึ่งเป็นอดีตมหานครของเวียดนามใต้นั้น ก็ถูกเปลี่ยนชื่อเสียใหม่ว่า โฮจิมินห์ ซิตี้ (Ho Chi Minh City) เพื่อให้เป็นเกียรติแก่โฮจิมินห์ ผู้นำการปฏิวัติและบิดาแห่งชาติเวียดนามยุคใหม่ แม้ว่า โฮจิมินห์จะไม่มีโอกาสได้เห็นการรวมชาติ เพราะได้เสียชีวิตไปก่อน คือในปี 1969 ก็ตาม
กรุงไซ่ง่อน (คนจำนวนไม่น้อยยังนิยมเรียกชื่อเดิม) หรือ โฮจิมินห์ ซิตี้ ในทุกวันนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยอย่าว่าแต่ 30 ปีเลย แม้ในช่วงระยะสั้นๆ ที่ใครก็ตามที่ต้องห่างหายไปจากมหานครแห่งนี้ก็แทบจะจำอะไรไม่ได้แล้ว เนื่องเพราะไซ่ง่อนหรือโฮจิมินห์ ซิตี้ในทุกวันนี้มีการพัฒนาที่ไม่น้อยหน้ากรุงเทพฯ ฮ่องกง และสิงคโปร์เลย
เมื่อครั้งที่เวียดนามเปิดประเทศใหม่ๆ ในปี 1985 คนไซ่ง่อนมักจะรำพึงรำพันกับความหลังของตัวเองไปในทำนองว่าเสียดายที่เวียดนามต้องเปลี่ยนไปเป็นคอมมิวนิสต์ไม่อย่างนั้นกรุงเทพฯ ไม่มีวันจะเทียบได้กับไซ่ง่อนเป็นแน่ แต่ทุกวันนี้เสียงบ่นในทำนองนี้แทบไม่หลงเหลือให้ได้ยินอีกต่อไปแล้ว เพราะบางเขตศูนย์กลางธุรกิจของมหานครแห่งนี้ดูจะมีความทันสมัยกว่ากรุงเทพฯ ด้วยซ้ำ
อย่างถนนเล ซวน (Le Duan) กลายเป็นศูนย์กลางธุรกิจ ห้างสรรพสินค้าไดม่อนพลาซ่ามีน้ำหอมจากฝรั่งเศส และสินค้าแบรนด์เนมดังๆ จากอิตาลีก็มีวางขายเกลื่อนไปหมด ส่วนโรงแรม Rex ที่พวกนักข่าวฝรั่งชอบไปสุมหัวกันเพื่อหาข่าวในช่วงสงครามนั้น ก็ได้ถูกแปรสภาพเป็นโรงแรมหรูที่คนเบี้ยน้อยหอยน้อยไม่มีสิทธิได้สัมผัส
ยิ่งไปกว่านั้นก็คือทางการเวียดนามยังถือว่า โฮจิมินห์ ซิตี้ ในวันนี้เป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าแห่งสังคมนิยมแบบเวียดนามอีกด้วย
โดยตลาดหลักทรัพย์ ธนาคาร ตู้เงินด่วนเอทีเอ็มและกลจักรสำคัญๆ ในระบบทุนนิยมนั้นต่างกำลังขับเคลื่อนไปอย่างขยันขันแข็งพอๆ กับคนเวียดนาม เฉพาะอย่างยิ่งคนภาคใต้ที่มีหัวทางการค้าอันปราดเปรื่องนั้น ต่างก็กำลังนำพาให้เศรษฐกิจเวียดนามโลดแล่นไปอย่างชนิดที่ประเทศเพื่อนบ้านเช่นไทยไม่อาจที่จะมองข้ามไปได้
งานเฉลิมฉลอง 30 ปีของการรวมชาติเวียดนามเมื่อวันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมานี้ ไม่ใช่งานรำลึกของคนที่จมปลักอยู่กับอดีต และไม่ใช่งานฉลองของอดีตนักรบผู้ที่ฮึกเหิมในชัยชนะ ทั้งยังไม่ใช่งานไว้อาลัยให้กับการสูญเสียและความเจ็บปวดเมื่อ 30 ปีก่อนแต่อย่างใด เพราะสำหรับชาวเวียดนามหลายหมื่นคนที่ร่วมในงานดังกล่าวนี้ต่างถือว่าเป็นงานเลี้ยงของคนวัยคะนองที่กำลังเร่งสร้างเนื้อสร้างตัวที่มองไปอนาคตอย่างมีความหวังและมีพลังแห่งการขับเคลื่อนสูง
ดังจะเห็นได้จากการที่เวียดนามเร่งกระชับสัมพันธ์กับสหรัฐอย่างเอาจริงเอาจัง โดยไม่ได้ลำเลิกถึงบาดแผลที่สหรัฐได้สร้างเอาไว้อย่างเจ็บปวดในอดีต ถึงแม้ว่าความเจ็บปวดจากสงครามจะไม่ใช่สิ่งที่ใครๆ ควรจะลืมมันไปง่ายๆ ก็ตาม แต่คนเวียดนามก็ถูกปลูกฝังให้รู้จักกับการพยายามให้อภัยว่าเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าความเคียดแค้น
ฟาน วัน ขาย นายกรัฐมนตรีเวียดนาม มีกำหนดการที่จะเดินทางไปเยือนสหรัฐอย่างเป็นทางการตามการเชิญของรัฐบาลสหรัฐในช่วงฤดูร้อนปีนี้
แน่นอนว่าการเยือนในระดับสูงของประเทศที่เคยได้ชื่อว่าเป็นศัตรูกันมาก่อนเช่นนี้ ย่อมมีนัยได้หลายอย่าง โดยอย่างแรกก็คือ เพื่อเป็นการเพิ่มพูนความสัมพันธ์ที่ทั้งสองเพิ่งจะเปิดเข้าหากันในช่วง 10 ปีมานี้ ฉะนั้น การเยือนของ ฟาน วัน ขาย จึงนับเป็นส่วนหนึ่งของการฉลอง 1 ทศวรรษแห่งสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างเวียดนามกับสหรัฐ
นักสังเกตการณ์ทางการเมืองระหว่างประเทศ ต่างพากันทึ่งในความสามารถของผู้นำเวียดนามที่ยอมปิดฉากความสัมพันธ์อันขมขื่นกับสหรัฐลงไปได้ ด้วยการมองไปถึงอนาคตที่สามารถจับต้องได้
เพราะนับจากที่ทั้งสองประเทศได้ตกลงปรับความสัมพันธ์ทางการค้าแบบปกติระหว่างกันในปี 2001 เป็นต้นมานั้น ปรากฏว่ามูลค่าการค้ารวมระหว่างสองประเทศได้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 6,440 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
ส่วนในประการต่อมา สหรัฐมองว่าการมีสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับเวียดนามนั้น เป็นความสัมพันธ์ทางยุทธศาสตร์ที่มีความสำคัญต่อสหรัฐมาก เพราะเวลานี้ใครๆ ก็มองว่ามหาอำนาจในเอเชียที่ผงาดขึ้นมาคงหนีไม่พ้นจีนแน่นอน โดยความเติบโตที่รวดเร็วทั้งในทางเศรษฐกิจและทางการเมืองของจีนในปัจจุบันนี้ ย่อมเป็นสิ่งที่ทำให้สหรัฐมองว่าเป็นภัยคุกคามต่อวอชิงตันโดยตรง
ครั้นเมื่อประกอบกับการที่สหรัฐก็รู้อยู่เต็มอกว่าในโลกนี้หากจะมี 2 ชาติใดที่ไม่กินเส้นกันได้อย่างเป็นอมตะนิรันดร์กาลนั้น เห็นจะไม่มีใครเกินจีนกับเวียดนามเป็นแน่ เพราะแม้ในสถานการณ์ปกติ ทั้งสองชาตินี้ยังหาเรื่องหมางใจกันได้เรื่อยๆ เช่นเรื่องหมู่เกาะสแปรตลี่อย่างเดียวก็เถียงกันไม่รู้จบมานานแล้ว ซึ่งยังไม่นับปัญหาจุกจิกตามแนวชายแดนและทัศนคติของประชาชนทั้งสองชาติที่ไม่สู้จะตรงกันด้วยแล้ว จึงทำให้สหรัฐมองเห็นว่าการได้เวียดนามไว้เป็นพวกในยุคนี้ ย่อมมีประโยชน์ไม่น้อย
ไม่มีข้อถกเถียงเรื่องความแตกต่างในทางลัทธิอีกต่อไป ความเป็นคอมมิวนิสต์ของเวียดนามยังคงอยู่แน่นอน ไม่มีใครปฏิเสธ แต่ความเป็นคอมมิวนิสต์ของเวียดนามวันนี้ย่อมไม่เหมือนกับเมื่อ 30 ปีก่อน เนื่องเพราะคอมมิวนิสต์ทุนนิยมไม่มีลักษณะเป็นภัยคุกคามเหมือนกับยุคสมัยที่สหรัฐยังถูกทฤษฎีโดมิโนหลอกหลอนอยู่นั่นเอง
แต่สำหรับจีนแล้ว สหรัฐมองว่าด้วยขนาดของเศรษฐกิจ ประกอบกับการมีท่าทีทางการทหารและทางการเมืองของจีนนั้น มีลักษณะแข่งขันกับสหรัฐอยู่ในที ส่วนกรณีของเวียดนามนั้น ไม่ใช่ขนาดที่จะแข่งขันกับสหรัฐได้ ดังนั้น สหรัฐจึงอยากได้เวียดนามเอาไว้เจาะประตูหลังของจีนในวันข้างหน้า
พันธมิตรเก่าของสหรัฐ ไม่ว่าจะเป็นไทยหรือฟิลิปปินส์ ล้วนแล้วแต่มีศึกในบ้านทั้งสิ้น เพราะแม้นักการเมืองในประเทศพวกนี้จะยอมก้มหัวให้สหรัฐอย่างว่าง่าย แต่ด้วยความที่มีประชากรส่วนหนึ่งเป็นมุสลิม จึงทำให้กลายเป็นจุดอ่อนไหวทางการเมืองอย่างมากต่อสหรัฐ เพราะการที่จะมาเคลื่อนไหวใช้ประเทศพันธมิตรเพื่อประโยชน์ของตนแต่ถ่ายเดียว ก็เกรงว่าจะถูกต่อต้านจากชุมชนมุสลิมมากขึ้น แต่สำหรับในเวียดนาม ไม่มีปัญหาเช่นว่านี้
อย่างไรก็ตาม เวียดนามมีลักษณะชาตินิยมเข้มข้นพอประมาณ การที่จะยอมให้สหรัฐหลอกใช้ง่ายๆ นั้น คงไม่เกิดขึ้น หากแต่ความสัมพันธ์ในลักษณะที่ถ้อยทีถ้อยอาศัยเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันก็น่าจะเพียงพอแล้ว เมื่อคำนึงถึงว่าที่ตั้งทางยุทธศาสตร์ของเวียดนามนั้นค้ำยันจีนเอาไว้พอดี และหากแม้เกิดเรื่องขึ้นมาจริงๆ เวียดนามไม่ต้องช่วยสหรัฐมาก เพียงแต่ไม่เข้าข้างจีน ก็เป็นประโยชน์เหลือหลายแล้ว
เมื่อพิจารณาในแง่นี้ การเคลื่อนไหวในวาระครบรอบ 30 ปีแห่งความบาดหมางระหว่างเวียดนามกับสหรัฐ จึงเป็นสิ่งที่ควรค่าแก่การติดตามยิ่ง เพราะมันอาจจะสร้างความสัมพันธ์ใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ก็เป็นได้!!!
: หนองปลาปาก : ตำบลกวนวัน : ตำบลในเมือง : ตำบลค่ายบกหวาน : ตำบลบ้านเดื่อ : ตำบลพระธาตุบังพวน : ตำบลปะโค : ตำบลโพนสว่าง : ตำบลโพธิ์ชัย : ตำบลเมืองหมี : ตำบลมีชัย : ตำบลเวียงคุก : ตำบลวัดธาตุ : ตำบลสีกาย : ตำบลหาดคำ : ตำบลหนองกอมเกาะ : ตำบลหินโงม : ตำบลกุดบง : ตำบลชุมช้าง : ตำบลจุมพล : ตำบลทุ่งหลวง : ตำบลเซิม : ตำบลนาหนัง : ตำบลบ้านโพธิ์ : ตำบลบ้านผือ : ตำบลวัดหลวง : ตำบลสร้างนางขาว : ตำบลเหล่าต่างคำ : ตำบลกองนาง : ตำบลท่าบ่อ : ตำบลโคกคอน : ตำบลน้ำโมง : ตำบลนาข่า : ตำบลบ้านเดื่อ : ตำบลบ้านถ่อน : ตำบลโพนสา : ตำบลบ้านว่าน : ตำบลหนองนาง : ตำบลนาดี : ตำบลเฝ้าไร่ : ตำบลหนองหลวง : ตำบลวังหลวง : ตำบลอุดมพร : ตำบลบ้านต้อน : ตำบลนาทับไฮ : ตำบลพระบาทนาสิงห์ : ตำบลโพนแพง : ตำบลบ้านหม้อ : ตำบลรัตนวาปี : ตำบลพระพุทธบาท : ตำบลพานพร้าว : ตำบลแก้งไก่ : ตำบลบ้านม่วง : ตำบลนางิ้ว : ตำบลผาตั้ง : ตำบลสังคม : ตำบลโพนทอง : ตำบลด่านศรีสุข : ตำบลโพธิ์ตาก : ตำบลสระใคร : ตำบลบ้านฝาง : ตำบลคอกช้าง
วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2553
30 ปีจากนครไซ่ง่อนสู่โฮจิมินห์ ซิตี้(Makong Corridor / ทรงฤทธิ์ โพนเงิน )
เขียนโดย
Thai Writer
ที่
00:48
ส่งอีเมลข้อมูลนี้BlogThis!แชร์ไปยัง Xแชร์ไปที่ Facebookแชร์ใน Pinterest
เรื่องน่าสนใจเกี่ยวเนื่องกัน:
ป้ายกำกับ:
อาเซียน