เขื่อนน้ำเทิน 2-ช้าง-คนจน กับความหวังบนเส้นขนาน(Makong Corridor / ทรงฤทธิ์ โพนเงิน )
คณะนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ชาวบ้านจากเขื่อนปากมูน และเขื่อนลำตะคอง ได้รวมตัวกันหน้าสำนักงานธนาคารโลกในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 14 มีนาคมที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้ธนาคารโลกหยุดการสนับสนุนการก่อสร้างเขื่อนน้ำเทิน 2 ในลาว เพราะเห็นว่าเขื่อนดังกล่าวนี้จะไม่สร้างประโยชน์ต่อคนลาวและคนไทย (ในฐานะผู้ซื้อไฟฟ้า) แถมยังจะทำลายสภาพแวดล้อมอย่างมหาศาลอีกด้วย
การเดินขบวนต่อต้านเขื่อนในคราวนี้ อาจจะเรียกว่าเป็นไปตามฤดูกาลก็ว่าได้ เพราะองค์กรพัฒนาเอกชนและชาวบ้านเหล่านี้มารวมตัวกันเนื่องในโอกาสวันต่อต้านเขื่อนโลก ดังนั้น เขื่อนน้ำเทิน 2 จึงกลายเป็นเป้าหมายของการประท้วงไปด้วย
แต่ถึงอย่างนั้น ก็ใช่ว่าการประท้วงในวันนั้นจะไม่มีความหมายอะไรเอาเสียเลย ด้วยว่ากลุ่มที่จัดการประท้วงไม่ใช่กลุ่มที่เลื่อนลอยไร้เป้าหมาย โดยอย่างน้อยพวกเขาก็ได้ทำการศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับโครงการเขื่อนน้ำเทิน 2 มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีข้อมูลที่หนักแน่นพอสมควรในการสนับสนุนการโต้แย้งของพวกตน
ยิ่งไปกว่านั้น ชาวบ้านจากเขื่อนปากมูนและลำตะคอง ก็เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการเขื่อนที่มีธนาคารโลกเป็นผู้สนับสนุนในด้านเงินทุนกู้ยืมที่ใช้ในการก่อสร้างเขื่อนทั้งสองดังกล่าว ฉะนั้น จึงถือได้ว่าเป็นการพูดจากประสบการณ์ตรงของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนที่ธนาคารโลกให้การสนับสนุนนั่นเอง
การประท้วงในครั้งนี้ได้วาดหวังที่จะให้มีผลต่อการตัดสินใจของคณะกรรมการบริหารของธนาคารโลกในอันที่จะพิจารณาตัดสินใจไม่ให้การค้ำประกันความเสี่ยงทางการเมืองแก่โครงการเขื่อนน้ำเทิน 2 ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นภายในปลายเดือนมีนาคมนี้
โดยถ้าหากธนาคารโลกไม่ค้ำประกันโครงการนี้ ก็ย่อมจะเป็นผลทำให้แหล่งเงินทุนต่างๆ ไม่กล้าที่จะให้การสนับสนุนเงินกู้แก่โครงการฯ ที่ต้องใช้เงินทุนถึง 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนั่นก็หมายถึงอนาคตของโครงการนี้อาจจะต้องจบสิ้นลงไปด้วย
แต่จนถึงขณะนี้คณะกรรมการของธนาคารโลกก็ยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะเอาอย่างไรดีกับโครงการนี้ เนื่องเพราะยังต้องการที่จะฟังเสียงจากทุกฝ่ายอย่างครบถ้วน
อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและชาวบ้านปากมูนได้ยกขึ้นมานั้นก็ไม่ใช่ประเด็นที่เล็กๆ เลย โดยเฉพาะประเด็นเกี่ยวกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและด้านสังคม ซึ่งในสายตาของพวกเขาแล้วมองว่าเขื่อนน้ำเทิน 2 นั้น จะก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบมากกว่าผลประโยชน์ด้านบวก
อะวีวา อิมฮอฟ จากเครือข่ายแม่น้ำนานาชาติ กล่าวว่า เขื่อนน้ำเทิน 2 จะไม่ช่วยลดความยากจนอย่างที่รัฐบาลลาวหวังเสียแล้ว เพราะพื้นที่อ่างเก็บน้ำของเขื่อนที่กว้างถึง 450 ตารางกิโลเมตรนั้น ก็คือผลกระทบที่ทำให้พื้นที่การเกษตรของชาวบ้านน้อยลง
ส่วนพื้นที่ริมอ่างเก็บน้ำที่จะจัดให้ชาวบ้านนั้น ก็เป็นที่ดินที่ไม่ดี ซึ่งการเพาะปลูกก็ต้องอาศัยปุ๋ย และที่ทางโครงการสัญญาว่าจะช่วยเหลือเป็นเวลา 3 ปีนั้น ก็อาจจะทำได้เพียงการปลูกพืชผลขายให้กับคนงานในระยะที่ก่อสร้างเขื่อนเท่านั้น
แต่หลังจากนั้นใครจะยื่นมือเข้ามาช่วย เพราะชาวบ้านคงไม่มีปัญญาที่จะหาปุ๋ยมาบำรุงดิน และพืชผักที่ปลูกได้จะขายให้ใครเมื่อคนงานเก็บของกลับไปหมดแล้ว เนื่องเพราะตลาดที่เมืองนากายนั้น ก็ไม่ได้ใหญ่โตอะไร
ส่วนชาวบ้านในลุ่มน้ำเซบั้งไฟที่อยู่ใต้เขื่อนมากกว่าหนึ่งแสนคนนั้น ก็จะได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วม และการพังทลายของตลิ่งก็ยังจะไปทำลายพื้นที่เพาะปลูกริมน้ำของชาวบ้านอีกด้วย
ปัญหาสำคัญอีกอย่างหนึ่งก็คือ สภาพนิเวศวิทยาที่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากน้ำจากเขื่อนที่มีอุณหภูมิแตกต่างไปจากเดิมนั้น ก็อาจจะทำให้ปลากว่า 130 สายพันธุ์ในแม่น้ำเซบั้งไฟ ต้องเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อีกต่างหาก
อย่างไรก็ตาม กลุ่มลงทุนในโครงการฯ ก็ยืนยันว่าได้ป้องกันปัญหาผลกระทบเหล่านี้อย่างรอบด้านแล้ว เช่นเรื่องอุณหภูมิของน้ำและการกัดเซาะที่ริมตลิ่งนั้น ก็จะแก้ด้วยการสร้างบ่อพักน้ำและจะเติมโคลนเพื่อลดการกัดเซาะตลิ่ง ส่วนอุณหภูมิไม่ต้องทำอะไรเลย เพราะน้ำที่ผ่านเครื่องปั่นไฟฟ้านั้นอุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว เป็นต้น
แต่ถึงกระนั้น ประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนก็คือเรื่องช้าง โดย วีรวัธน์ ธีรประสาธน์ จากมูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ยืนยันว่า บนพื้นที่น้ำเทิน-นากาย มีช้างป่าอยู่ 2 ฝูงใหญ่ๆ ฝูงแรกประมาณ 500 ตัว ส่วนฝูงที่สองที่เดินทางไป-มาระหว่างแขวงเซกองและจำปาสักกับเขตนากายนั้น ก็น่าจะมีอยู่ประมาณ 900 ตัว
โดยช้างป่าเหล่านี้จะมารวมกันบนที่ราบสูงนากายทุกฤดูน้ำหลาก เพื่อมาหากินและผสมพันธุ์กันในห้วงเวลาดังกล่าวนี้
ฉะนั้น ปัญหาก็คือว่า ถ้าหากสร้างเขื่อนแล้วพื้นที่ถูกน้ำท่วมกว้างถึง 450 ตารางกิโลเมตรแล้วช้างพวกนี้ไม่สามารถจะข้ามผืนน้ำที่กว้างขนาดนี้เพื่อมารวมตัวกันได้ พวกมันก็จะผสมพันธุ์กันภายในฝูง ซึ่งจะทำให้ลูกช้างที่เกิดใหม่มีลักษณะด้อยมากขึ้นเรื่อยๆ และอ่อนแอลงจนไม่สามารถต้านทานกับโรคระบาดต่างๆ ได้อันถือเป็นสภาพที่เสี่ยงมากต่อการสูญพันธุ์ของช้างป่าในที่สุดนั่นเอง
ธนาคารโลกยังไม่สามารถตอบประเด็นนี้ได้ชัดเจนนัก หรือถ้าจะพูดกันตามตรง ประเด็นนี้เพิ่งจะถูกยกขึ้นมาเมื่อไม่นานมานี้ โดยธนาคารโลก และกลุ่มผู้ลงทุนในโครงการฯ เพิ่งจะส่งทีมงานไปศึกษาพฤติกรรมของช้าง ซึ่งจนถึงขณะนี้ก็ยังศึกษาไม่เสร็จ
เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่ากลุ่มลงทุนในโครงการฯ จะบอกว่าจะสร้าง 'ระเบียงช้าง' (elephant corridor) เพื่อจะให้ช้างเดินอ้อมอ่างเก็บน้ำมายังที่ซึ่งมันเคยมา (ซึ่งไม่รู้ว่าอยู่ตรงไหน) ก็ตาม แต่ประเด็นที่ วีรวัธน์ ได้เน้นย้ำอย่างหนักแน่น ก็คือ ใครจะไปสร้างระเบียงเช่นนั้นได้ และช้างมันจะรู้ได้อย่างไรว่ามีระเบียงสำหรับเดินข้ามอ่างเก็บน้ำ
ถ้าจะว่าไปแล้ว การสร้างเขื่อนทุกที่ในโลกนี้ ย่อมไม่สามารถที่จะตอบปัญหานี้ได้อย่างแน่นอน เนื่องเพราะความจริงก็คือไม่มีใครในโลกนี้ที่จะล่วงรู้พฤติกรรมของสัตว์ได้อย่างแน่ชัดว่าพวกมันกิน นอน ขับถ่าย และสืบพันธุ์กันเมื่อใด ที่ไหน และอย่างไร
ดังนั้น ธนาคารโลกและกลุ่มผู้ลงทุนในโครงการฯ คงไม่สามารถที่จะตอบคำถามที่นักอนุรักษ์ธรรมชาติยกขึ้นมาได้ในทุกประเด็นอย่างแน่นอน และทำนองเดียวกัน สิ่งที่นักอนุรักษ์พูดถึงนั้น พวกเขาก็อาจจะมองผิดไปก็ได้ที่บอกว่าช้างจะไม่สามารถปรับตัวได้เลยในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะธรรมชาติย่อมเปลี่ยนแปลงไปเสมอโดยไม่มีวันหยุดนิ่งนั่นเอง
ฉะนั้น ปัญหาของเขื่อนน้ำเทิน 2 ในเวลานี้ จึงไม่น่าจะใช่เรื่องที่จะมาเถียงกันในประเด็นเหล่านี้จนไม่ยอมรับฟังเหตุผลซึ่งกันและกัน
หากแต่ปัญหาน่าจะอยู่ที่ว่าจะเลือกอะไรระหว่างเขื่อนเพื่อขายไฟฟ้าให้ไทยแล้วให้รายได้ไหลรินลงล่าง เพื่อให้คนยากคนจนในลาวได้มีโอกาสได้รับปัจจัยสี่อย่างเพียงพอกับความต้องการในชีวิตประจำวันบ้าง กับการปล่อยให้พวกเขาเหล่านี้อยู่อย่างที่เคยเป็นมาแล้ว ให้ปรับตัวไปตามสภาพของกาลเวลาที่ทรัพยากรธรรมชาติก็ลดน้อยถอยลงไปทุกขณะเพราะการบริโภคอย่างไม่จำกัดของคนเมือง!!!
: หนองปลาปาก : ตำบลกวนวัน : ตำบลในเมือง : ตำบลค่ายบกหวาน : ตำบลบ้านเดื่อ : ตำบลพระธาตุบังพวน : ตำบลปะโค : ตำบลโพนสว่าง : ตำบลโพธิ์ชัย : ตำบลเมืองหมี : ตำบลมีชัย : ตำบลเวียงคุก : ตำบลวัดธาตุ : ตำบลสีกาย : ตำบลหาดคำ : ตำบลหนองกอมเกาะ : ตำบลหินโงม : ตำบลกุดบง : ตำบลชุมช้าง : ตำบลจุมพล : ตำบลทุ่งหลวง : ตำบลเซิม : ตำบลนาหนัง : ตำบลบ้านโพธิ์ : ตำบลบ้านผือ : ตำบลวัดหลวง : ตำบลสร้างนางขาว : ตำบลเหล่าต่างคำ : ตำบลกองนาง : ตำบลท่าบ่อ : ตำบลโคกคอน : ตำบลน้ำโมง : ตำบลนาข่า : ตำบลบ้านเดื่อ : ตำบลบ้านถ่อน : ตำบลโพนสา : ตำบลบ้านว่าน : ตำบลหนองนาง : ตำบลนาดี : ตำบลเฝ้าไร่ : ตำบลหนองหลวง : ตำบลวังหลวง : ตำบลอุดมพร : ตำบลบ้านต้อน : ตำบลนาทับไฮ : ตำบลพระบาทนาสิงห์ : ตำบลโพนแพง : ตำบลบ้านหม้อ : ตำบลรัตนวาปี : ตำบลพระพุทธบาท : ตำบลพานพร้าว : ตำบลแก้งไก่ : ตำบลบ้านม่วง : ตำบลนางิ้ว : ตำบลผาตั้ง : ตำบลสังคม : ตำบลโพนทอง : ตำบลด่านศรีสุข : ตำบลโพธิ์ตาก : ตำบลสระใคร : ตำบลบ้านฝาง : ตำบลคอกช้าง
วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2553
เขื่อนน้ำเทิน 2-ช้าง-คนจน กับความหวังบนเส้นขนาน(Makong Corridor / ทรงฤทธิ์ โพนเงิน )
เขียนโดย
Thai Writer
ที่
00:43
ส่งอีเมลข้อมูลนี้BlogThis!แชร์ไปยัง Xแชร์ไปที่ Facebookแชร์ใน Pinterest
เรื่องน่าสนใจเกี่ยวเนื่องกัน:
ป้ายกำกับ:
อาเซียน