: หนองปลาปาก : ตำบลกวนวัน : ตำบลในเมือง : ตำบลค่ายบกหวาน : ตำบลบ้านเดื่อ : ตำบลพระธาตุบังพวน : ตำบลปะโค : ตำบลโพนสว่าง : ตำบลโพธิ์ชัย : ตำบลเมืองหมี : ตำบลมีชัย : ตำบลเวียงคุก : ตำบลวัดธาตุ : ตำบลสีกาย : ตำบลหาดคำ : ตำบลหนองกอมเกาะ : ตำบลหินโงม : ตำบลกุดบง : ตำบลชุมช้าง : ตำบลจุมพล : ตำบลทุ่งหลวง : ตำบลเซิม : ตำบลนาหนัง : ตำบลบ้านโพธิ์ : ตำบลบ้านผือ : ตำบลวัดหลวง : ตำบลสร้างนางขาว : ตำบลเหล่าต่างคำ : ตำบลกองนาง : ตำบลท่าบ่อ : ตำบลโคกคอน : ตำบลน้ำโมง : ตำบลนาข่า : ตำบลบ้านเดื่อ : ตำบลบ้านถ่อน : ตำบลโพนสา : ตำบลบ้านว่าน : ตำบลหนองนาง : ตำบลนาดี : ตำบลเฝ้าไร่ : ตำบลหนองหลวง : ตำบลวังหลวง : ตำบลอุดมพร : ตำบลบ้านต้อน : ตำบลนาทับไฮ : ตำบลพระบาทนาสิงห์ : ตำบลโพนแพง : ตำบลบ้านหม้อ : ตำบลรัตนวาปี : ตำบลพระพุทธบาท : ตำบลพานพร้าว : ตำบลแก้งไก่ : ตำบลบ้านม่วง : ตำบลนางิ้ว : ตำบลผาตั้ง : ตำบลสังคม : ตำบลโพนทอง : ตำบลด่านศรีสุข : ตำบลโพธิ์ตาก : ตำบลสระใคร : ตำบลบ้านฝาง : ตำบลคอกช้าง

วันอังคารที่ 14 ธันวาคม พ.ศ. 2553

'พระราชอำนาจ' หนังสือดีที่ 'ใคร' บางคนเมิน

เรื่องจากปก / ทีมข่าวพิเศษ จากนิตยสารเนชั่นสุดสัปดาห์

'พระราชอำนาจ' หนังสือดีที่ 'ใคร' บางคนเมิน
พลันที่ความไม่ชอบมาพากลในแวดวงการเมือง ส่งกลิ่นคละคลุ้งจนแสบจมูกกันถ้วนหน้าตอนนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาจากน้ำมือของผู้มีอำนาจ หรือผู้ที่ใช้อำนาจนั้นเสียเอง คือ รัฐบาล

หลายกลุ่ม หลายฝ่าย ทั้งขาประจำ และขาจร ต่างออกมาแสดงการตักเตือน ชี้แนะ ชี้นำ ที่สุดไม่ไหวจึง 'ด่ากันขรม’.. มาเป็นระยะเวลานานพอๆ กับอายุของการครองสมัยรัฐบาล

แต่ดูเหมือน ยิ่งด่าก็ยิ่งแสบจมูก!

กระทั่ง...มีบุรุษที่เดินทางไกลจากทิศอุดรของประเทศไทยผู้หนึ่ง เปิดประเด็นให้สังคมได้ตื่นตัวกันอีกครั้งผ่านทางตัวอักษร

ประมวล รุจนเสรี ที่ขณะนี้เหลือตำแหน่งทางการเมืองเพียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบบัญชีรายชื่อ แห่งซูเปอร์พรรคไทยรักไทย จากที่เคยมีตำแหน่งใหญ่โตมากมาย อย่างรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย หรือ มท.3 และยังเป็นถึงรองหัวหน้าพรรคอีกด้วย

แต่ 'ตำแหน่ง-แห่งที่’ สำหรับเขานั่นหรือจะสลักสำคัญ? อย่างที่เจ้าตัวเอื้อนเอ่ยกับไทยโพสต์ไว้ว่า

"สำหรับผม การเป็นรองหัวหน้าพรรคหรือไม่เป็น หรือเป็นสมาชิกพรรค มันไม่ต่างกันเลย ในการที่จะอยู่ไทยรักไทย ผมถึงไม่รู้สึกอะไร มันไม่ใช่หัวโขนที่ผมอยากจะกอดไว้ หัวโขนนี้สวมแล้วหนัก ถอดได้ก็เบา"

เพราะไม่เช่นนั้น หนังสือเล่มแรกในปีนี้ของเขาที่สร้างความเซอร์ไพรส์กันเกือบตายภายในพรรค 'ไทยรัก-ทักษิณ’ ที่ชื่อว่า 'การใช้อำนาจ เป็นธรรมชาติของมนุษย์’ คงไม่ออกมาเผยโฉมในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาแน่นอน

และเป็นหนังสือเล่มนี้เอง ที่ทำให้เขาเกือบจะไม่มีที่อยู่ที่ยืนแม้เพียงฐานะของ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์เลยด้วยซ้ำ เหตุเพราะสร้างความระคายเคืองใจให้ท่านหัวหน้าพรรคเป็นยิ่งนัก

อย่างที่รู้กันว่า ประมวลผู้นี้ มีความสนิทชิดเชื้อผูกพันกับ 'ป๋าเหนาะ-เสนาะ เทียนทอง' มายาวนาน นับ 30 ปี ตั้งแต่ตัวเองยังมีตำแหน่งเพียงรองผู้ว่าราชการจังหวัด ก่อนที่จะได้ผู้เฒ่าชี้ชวนให้มาลงเล่นการเมืองสังกัดวังน้ำเย็นหลังเกษียณอายุราชการ

ครั้นเมื่อหนังสือเล่มนี้ถูกเปิดตัวท่ามกลางศึก 'เหนาะ VS ทักษิณและพวก' ทั้งๆ ที่เจ้าตัวให้สัมภาษณ์ในกรุงเทพธุรกิจ ว่าตัวเองเขียนขึ้นเนื่องในโอกาสวันเกิดเท่านั้น และมีที่มาจากการที่ ส.ส.รุ่นน้องมักมีปัญหาติดขัดคาใจมาไต่ถามอยู่เสมอเกี่ยวกับประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม และเพื่อที่ได้จะไม่ต้องมาคอยตอบคำถามกันอีก จึงตัดสินใจเขียนเป็นหนังสือออกมา

ถึงกระนั้นก็ตาม ด้วยเนื้อหาที่วิจารณ์การบริหารงานภายใต้ระบอบทักษิณ ที่นายกรัฐมนตรีจะกลายเป็นผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแต่เพียงผู้เดียว และอื่นๆ อีกมากมายจนทำให้นายกฯ ถึงกับออกปากว่า 'ปล่อยไว้ไม่ได้'

"คนที่จะเป็นผู้บริหารพรรคควรจะเป็นคนใจกว้าง ชี้ทางที่ถูกที่ควรแล้วเอามาดู ไม่ใช่เอามาโกรธ แล้วผมก็ยังเชื่อว่านายกฯ ท่านพูด เพราะท่านยังไม่ได้อ่านหนังสือ แสดงว่าคนไม่กี่คนที่ไปเล่า แล้วท่านก็เป็นคนใจร้อนอยู่แล้ว ผมจึงไม่ได้ว่าอะไรท่าน"

ซึ่งจนแล้วจนรอด แม้ไม่ถูกขับออกจากพรรค ประมวลก็ตกอยู่ในฐานะ 'คนนอกคอก' ถูกกาหัวขึ้นแบล็คลิสต์ของ 'บัญชีขบถ' ไทยรักไทยทันที

มิหนำซ้ำ หากวัดจากสังคมวงกว้างแล้ว ตัวเขาเองก็ถูกมองว่าไม่ได้มีความหมายอื่นใด นอกเหนือจากเป็นเพียงแค่ยุทธการ 'เอาคืน’ ให้ 'ลูกพี่’ ดีหน่อยก็ตรงความกล้าหาญชาญชัย ก็เท่านั้น

และ..นั่นคือเท่าที่บุรุษจาก อ. แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน ได้รับในวันนั้น

0 0 0

แต่วันนี้ดูเหมือนว่าจะต่างกัน

เพราะเมื่อประมวล บรรจงเข็นหนังสือเล่มต่อมาให้ปรากฏต่อสังคม ในชื่อ 'พระราชอำนาจ' เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคมที่ผ่านมา กระแสเสียงที่มีต่อเขาเปลี่ยนแปลงไปไม่น้อย และใครๆ ต่างสนใจใคร่รู้ในตัวเขาและงานเขียนของเขามากขึ้น

จะว่าไปผู้กล้า (เขียน) ผู้นี้ ในชีวิตของเขามีงานเขียนออกมามากมายหลายเล่ม และแทบทุกเล่มมักหนีไม่พ้นเรื่องการเมืองการปกครอง และแฝงไปด้วยความจงรักภักดีในองค์พระมหากษัตริย์ไทย

"ผมเขียนหนังสือ มันจะต้องมีเรื่องเกิดก่อน ส่วนมากในวัยของผม เป็นวัยที่ผ่านราชการผ่านการเมืองมาพอสมควร พอเห็นอะไรขึ้นมาปัง ก็ถามตัวเองว่าเราจะอยู่เฉยๆ หรือ ทำไมไม่หาความถูกต้องให้สังคมได้รับรู้ แล้ววิธีที่จะให้สังคมรับรู้ก็มีงานถนัดที่สุดคืองานเขียน"

ตัวอย่างที่เด่นๆ เช่น 'ความถูกต้องดีงาม' ปี 2535 เป็นพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

'นายอำเภอในฝัน' ปี 2541 ที่ผู้เขียนบอกว่า "เพราะคำว่านายอำเภอเป็นชนวนจุดประกายความคิดให้ ด.ช.ประมวล วัย 11 ขวบ ฝันอยากเป็นนายอำเภอ เพื่อจะได้สั่งการตำรวจต่างๆ ได้"

'สมดุลประเทศไทย' ปี 2547 รวบรวมแนวคิดปรัชญาการพัฒนาอย่างสมดุล และยกคำสอนของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ มาอธิบายประกอบ ตลอดจนผลงานอื่นๆ อีกมากมายทั้งก่อนและหลัง กระทั่งมาถึง 'การใช้อำนาจ’ และ 'พระราชอำนาจ’ ในปี 2548

และ 'พระราชอำนาจ' เล่มนี้เอง ที่ทำให้สังคมพูดถึงอดีตรัฐมนตรีช่วยมหาดไทยคนนี้ ในทิศทางที่นิยมชมชอบมากขึ้น หนึ่ง เพราะอาจด้วยที่มาของหนังสือเล่มนี้ ที่หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ทำเพื่อ 'คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา' สตรีที่สังคมกำลังต่อสู้เคียงข้าง

แต่เจ้าตัวบอกว่าทั้งหลายทั้งปวงมีคุณค่าและความหมายมากกว่านั้น นั่นคือ หนังสือเล่มนี้ ถือเป็นตัวแทนของการสะกิดเตือนความหลงผิดบางอย่างของผู้ใช้อำนาจในปัจจุบัน ตลอดจนพสกนิกรชาวไทยที่ยังเข้าใจคลาดเคลื่อนต่อพระราชอำนาจที่พึงมีของพระมหากษัตริย์ไทย

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพระราชอำนาจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลปัจจุบัน ที่มิใช่ทรงสถิตเป็นเพียงตรายาง มีหน้าที่ลงพระปรมาภิไธยตามที่รัฐบาลและองค์กรต่างๆ กราบบังคมทูลเสนอขึ้นไปเท่านั้น

"อยากจะเตือนรัฐบาลและคนไทยทั้งประเทศว่า เรากำลังเลอะเลือนกับสถาบันสูงสุดของเราหรือเปล่า แม้พระมหากษัตริย์ จะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและกฎหมาย แต่ท่านคือองค์อธิปปัตย์ ในหลวงรัชกาลที่ 7 สละพระราชอำนาจให้ โดยพระราชทานรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ให้ใครคนใดคนหนึ่ง แต่ทรงมอบให้ประชาชนทั้งประเทศ"

ที่สุด จาก 'ขบถ' ในวันนั้น มาวันนี้ประมวลได้กลายเป็น 'วีรบุรุษ' ที่ต่อสู้เพื่อความถูกต้องดีงาม แม้จะต้องเจออุปสรรคชนิดน้ำเน่าก็ไม่ปาน ที่ถูกขัดขวางการใช้สถานที่เพื่อเปิดตัวหนังสือที่สโมสรราชพฤกษ์ แต่ผลคือ กลับยิ่งทำให้หนังสือเล่มนี้ขายดียิ่งขึ้น

และเหนือสิ่งอื่นใด เมื่อประมวล ได้ยินจากปากของ ม.ล.ปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา ถึงกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ต่อหนังสือพระราชอำนาจเล่มนี้

"เราอ่านแล้ว เราชอบมาก เขียนได้ดี เขียนได้ถูกต้อง" พร้อมวางพระหัตถ์ไว้ที่พระอุระ และรับสั่งให้นำสารนี้มาบอกแก่ผู้เขียน

ภายในหัวใจของบุรุษวัย 66 ปีผู้นี้ จึงเต็มไปด้วยความปลาบปลื้ม ปีติ ถึงขนาดนำพระราชดำรัสดังกล่าวลงตีพิมพ์ใน 'บทอาเศียรวาท’ ที่เพิ่มเติมเข้ามาในการตีพิมพ์หนังสือเล่มนี้ครั้งที่ 3 และในตอนท้ายยังสรุปว่า

"เมื่อข้าพระพุทธเจ้าได้น้อมรับกระแสพระราชดำรัสดังกล่าวนี้มาแล้ว ทำให้ต้องพยายามแพร่กระจายหนังสือเล่มนี้ให้กว้างขวางในหมู่คนไทยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ 'พระราชอำนาจ' ในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท มาเป็นมหาจักรขับเคลื่อนประเทศและประชาชนชาวไทยสืบไป"

ไม่ต้องคำนวณว่านาทีนี้ หนังสือเล่มนี้จำหน่ายไปแล้วเท่าไหร่ หรือทำรายได้ให้ผู้เขียนไปกี่มากน้อย แต่ในฐานะคนไทย น่าจะต้องไปหามาอ่านกัน เพื่อความเข้าใจที่ครบถ้วนบริบูรณ์ในพระราชอำนาจ

ก็ได้รับคำชมอันสูงส่งขนาดนี้ มีหรือคนไทยจะไม่อยากสัมผัสดูบ้าง!!