เจ้าหน้าที่ออกสำรวจ-เก็บตัวอย่างน้ำและปลากระชัง ที่เลี้ยงในแม่น้ำโขง พื้นที่ อ.เมืองหนองคาย หลังทยอยตากต่อเนื่อง เบื้องต้น คาดติดเชื้อพาราไซค์ภายนอก แนะเกษตรกรฝังกลบปลาที่ตาย อย่าตักทิ้งในแม่น้ำ ...
นายสมพล โนดไธสง อุตสาหกรรมจังหวัดหนองคาย ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ออกมาสำรวจและเก็บข้อมูลจากเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชัง ใน ต.หินโงม อ.เมืองหนองคาย เก็บตัวอย่างน้ำ ทั้งทางด้านเหนือและท้ายกระชังปลาที่เกษตรกรเลี้ยงในพื้นที่ หลังจากเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาร้องขอความช่วยเหลือ เนื่องจากมีปลาที่เลี้ยงไว้ตายโดยไม่ทราบสาเหตุ
นายหนูคูณ เหล่าหนาด อายุ 64 ปี อยู่บ้านเลขที่ 144 ม.7 ต.หินโงม อ.เมืองหนองคาย เปิดเผยว่า ตนเลี้ยงปลามา 7 ปี กว่า 10 กระชัง ลงทุนกระชังละ 80,000 บาท ปลาที่เลี้ยงไว้ตายเกือบทุกปี แต่ละปีเสียหายจำนวนมาก ล่าสุดตนได้ลงปลาเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2556 จำนวน 25,000 ตัว ตัวละ 6 บาท ซึ่งเป็นปลาขนาด 2.5 นิ้ว พอลงปลาได้แค่ 3 วัน ปลาก็เริ่มตาย โดยจะตายวันละกว่า 2 ถุงปุ๋ย หรือประมาณวันละ 1,000 ตัว จนถึงวันนี้ รวม 11 วัน ปลาที่เลี้ยงไว้ตายไปกว่า 15,000 ตัว จากนี้ไปจะตายอีกไม่รู้กี่ตัว อยากขอให้ทางการเข้าช่วยเหลือดูแล
ด้านนายเฉลียว เทียนวรรณ ประมงจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า เบื้องต้นปลาที่ตายน่าจะเกิดจากการติดเชื้อพาราไซค์ภายนอก ที่ติดเกาะตามเกล็ดปลา บางตัวติดเชื้อจากภายใน อาการท้องบวมสันนิษฐานว่าเกิดจากเชื้อแบคทีเรียจากฟาร์มอนุบาล ส่วนน้ำในแม่น้ำโขงนั้นเป็นฤดูน้ำแดง ออกซิเจนต่ำ ถ้าปลาอ่อนแอ ก็มีส่วนที่จะทำให้เชื้อโรคที่มากับน้ำเข้าสู่ตัวปลาได้ง่าย แล้วจะทำให้ปลาท้องบวม ไม่กินอาหารแล้วก็จะตายในที่สุด โดยจะส่งตัวอย่างไปตรวจพิสูจน์ที่จังหวัดขอนแก่น นอกจากนี้ยังขอความร่วมมือไม่ให้เกษตรกรตักปลาที่ตายทิ้งลงในแม่น้ำโขง ควรขุดหลุมฝังกลบ หรือนำไปหมักเพื่อทำน้ำหมักชีวภาพ หรือนำไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าดีกว่าเอาไปทิ้งเฉยๆ
นายภาณุพันธ์ ธนาฤกษ์มงคล หัวหน้าฝ่ายสงเคราะห์ผู้ประสบภัย สนง.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดหนองคาย กล่าวว่า ปลาที่ตายในกระชัง ไม่ได้เกิดจากโรคระบาด ยังไม่สามารถประกาศเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน แต่ต้องรอผลตรวจทั้งตัวปลาและน้ำอีกครั้งจึงจะสรุปได้ หากผลออกมาว่าเกิดจากโรคระบาด จึงจะประกาศเป็นเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินให้การช่วยเหลือตามระเบียบของทางราชการต่อไป.