: หนองปลาปาก : ตำบลกวนวัน : ตำบลในเมือง : ตำบลค่ายบกหวาน : ตำบลบ้านเดื่อ : ตำบลพระธาตุบังพวน : ตำบลปะโค : ตำบลโพนสว่าง : ตำบลโพธิ์ชัย : ตำบลเมืองหมี : ตำบลมีชัย : ตำบลเวียงคุก : ตำบลวัดธาตุ : ตำบลสีกาย : ตำบลหาดคำ : ตำบลหนองกอมเกาะ : ตำบลหินโงม : ตำบลกุดบง : ตำบลชุมช้าง : ตำบลจุมพล : ตำบลทุ่งหลวง : ตำบลเซิม : ตำบลนาหนัง : ตำบลบ้านโพธิ์ : ตำบลบ้านผือ : ตำบลวัดหลวง : ตำบลสร้างนางขาว : ตำบลเหล่าต่างคำ : ตำบลกองนาง : ตำบลท่าบ่อ : ตำบลโคกคอน : ตำบลน้ำโมง : ตำบลนาข่า : ตำบลบ้านเดื่อ : ตำบลบ้านถ่อน : ตำบลโพนสา : ตำบลบ้านว่าน : ตำบลหนองนาง : ตำบลนาดี : ตำบลเฝ้าไร่ : ตำบลหนองหลวง : ตำบลวังหลวง : ตำบลอุดมพร : ตำบลบ้านต้อน : ตำบลนาทับไฮ : ตำบลพระบาทนาสิงห์ : ตำบลโพนแพง : ตำบลบ้านหม้อ : ตำบลรัตนวาปี : ตำบลพระพุทธบาท : ตำบลพานพร้าว : ตำบลแก้งไก่ : ตำบลบ้านม่วง : ตำบลนางิ้ว : ตำบลผาตั้ง : ตำบลสังคม : ตำบลโพนทอง : ตำบลด่านศรีสุข : ตำบลโพธิ์ตาก : ตำบลสระใคร : ตำบลบ้านฝาง : ตำบลคอกช้าง

วันเสาร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2553

Wharfedale Opus ตำนานลำโพงผู้ดีอังกฤษ (เครื่องเสียง / วิจิตร บุญชู)

Wharfedale Opus ตำนานลำโพงผู้ดีอังกฤษ (เครื่องเสียง / วิจิตร บุญชู)

ต้องยอมรับกันว่าลำโพงจากอังกฤษ มีบุคลิกพิเศษเรื่องความสะอาดของเสียงและความเที่ยงตรง และการออกแบบดีไซน์ ยิ่งลำโพงระดับสูงเพื่อให้ได้ลำโพงที่ดีที่สุดสักคู่หนึ่ง นักออกแบบจากแดนผู้ดีจะไม่ยอมขึ้นอยู่กับเกณฑ์มาตรฐานบังคับเรื่องระดับราคาเสมอไป มันจะมีพื้นฐานเกี่ยวข้องกับเงื่อนไขมากมายเลยทีเดียว ผู้ผลิต และดีไซเนอร์ จะใช้วิศวกรรมพื้นฐานขององค์ประกอบทุกส่วน เต็มไปด้วยเหตุและผลที่เกินกว่า สรรหาคำอธิบายได้แบบรวบรัด คุณภาพโดยรวมจะต้องยอมรับให้กับความประณีต เป็นต้น

รูปร่างของโครงสร้างทั้งหมด อาจจะโยนทิ้งข้อกำหนดทางการตลาดเอาไว้เบื้องหลัง แบบไม่ให้มันมาเป็นตัวกำหนดบัญชาการจนเกินไป เช่น ไม่จำเป็นต้องรูปทรงสี่เหลี่ยมเจนตามานับครึ่งศตวรรษ หรือลำโพงที่ดีเยี่ยม ย่อมเป็นการคัดสรรสิ่งที่ดีที่สุดมารวมกัน ให้ได้ทำหน้าที่ในการถ่ายทอดเสียงดนตรีที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ ส่วนผู้บริโภคนั้นเล่า ความพึงพอใจในรูปแบบสไตล์ หรือบุคลิกเสียง อาจเป็นสิ่งแรกที่คำนึงถึง แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งแล้ว ผู้บริโภคผู้สั่งสมประสบการณ์มากพอจนถึงปลายทางแห่งความเข้าใจ ก็จะมาบรรจบกับดีไซเนอร์ที่ เสียงแห่งความจริงและเที่ยงตรง อย่างถึงที่สุด เฉกเช่นกัน

ลำโพงอังกฤษที่ได้ชื่อว่าเป็นแบรนด์ที่ยืนยงยาวนานที่สุดรายหนึ่ง Wharfedale ไม่ได้เพิ่งจะเริ่มคิดค้นลำโพงในระดับอ้างอิง แต่ทำมานานพอๆ กับลำโพงซีรีส์กลางๆ ที่ทำตลาดได้ดีอย่างน่าทึ่ง เพียงแต่ลำโพงชั้นยอดนี้ เคยเป็นตัวแบบให้รุ่นเล็กรุ่นกลางได้ใช้เป็นแนวทางการประนีประนอม ให้มีความเป็นไปได้ สำหรับลำโพงเงินหมื่นที่เสียงคุ้มค่าที่สุด จากรุ่นที่ผมค่อนข้างยอมรับได้อย่างเต็มที่ ว่าคือลำโพงที่ทุกคนควรฟังก่อนเลือกลำโพงคู่ใจในระดับมิดเอ็นด์ อย่าง evolution ก็ต้องขอบอกว่าสิ่งที่รบเร้าจิตใจอยู่เสมอที่คอยเวลาได้ฟังมันอย่างจริงจังเสียที ก็เห็นจะไม่พ้นลำโพงที่รอคอย นั่นคือ Opus Series

งานที่ต้องเรียกว่าเป็นงานฝีมือโดยแท้ ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบ โครงสร้างตู้ ตัวขับเสียง ครอสโอเวอร์เน็ตเวิร์ก ทุกอย่างต้องเป็นหนึ่งเท่านั้น OPUS ตำนานหน้าใหม่ลำโพงไฮเอ็นด์จากวาร์ฟฟีเดล นั้น เป็นลำโพงที่สรรค์สร้างแบบละเอียดประณีตทุกขั้นตอน

และเพื่อให้บรรลุในวัตถุประสงค์และเป้าหมายลำโพงระดับไฮเอ็นด์ราคาสมเหตุผล ให้เสียงออเคสตราวงใหญ่ลงมาจนถึงคันทรีวงเล็กๆ ได้อย่างสมบูรณ์ 'The Opus series' จึงได้รับการออกแบบให้เป็นระบบลำโพงแบบวางพื้น 3 ทาง ด้วยจุดโดดเด่นในหลายประการ ดังนี้

หนึ่ง-สามารถตอบสนองครอบคลุมช่วงความถี่เสียงได้กว้างขวางมากเป็นพิเศษ

สอง-ภายใต้ค่าความผิดเพี้ยนที่ต่ำมากๆ ตัวขับเสียงช่วงความถี่ต่ำ ได้รับการออกแบบให้ไม่ต้องมีระยะเคลื่อนที่-โยนตัวที่มาก ก็สามารถให้ประสิทธิภาพและคุณภาพเสียงต่ำอันสมบูรณ์

สาม-แม่เหล็กคุณภาพสูง ให้ความเข้มเส้นแรงแม่เหล็กที่มากเป็นพิเศษ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขับเคลื่อนตัวกรวยให้ได้มาซึ่งความฉับพลันทันใดในรายละเอียดเสียงที่โดดเด่นกว่าธรรมดา

สี่-มุมกระจายเสียงอันกว้างขวางตลอดทั้งช่วงย่าน การรับรู้ถึงอิมเมจและซาวนด์สเตจเสียงจึงชัดเจนและนิ่งสนิท

ห้า-คัดเกรดอุปกรณ์ที่ใช้อย่างพิถีพิถัน คำนึงถึงปัจจัยการทำงานร่วมกันของอุปกรณ์โดยรวมทั้งทางด้านเสียงและอายุการใช้งาน

องค์ประกอบพิเศษของตู้ลำโพง รูปทรงตัวตู้คล้าย 'หยดน้ำ' อันมีลักษณะเป็น 'ทรงโค้ง' เรียวเข้าหากันไปทางด้านท้ายตัวตู้ ที่เกิดจากการค่อยๆ ดัดโค้งโครงสร้างของผนังตัวตู้ ซึ่งเลือกใช้วัสดุ MDF หรือ Medium Density Fiberboard ทำให้ 'The Opus series' นั้น 'ไร้' ซึ่งด้านขนาน อีกทั้งโครงสร้างภายในยังได้รับการเสริมด้วย 'วัสดุคาดโครง' เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งของตัวตู้โดยรวม เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่าลักษณะผิวพื้นที่เป็น 'ทรงโค้ง' จะมีค่าการรับแรงกดได้มากกว่าลักษณะผิวพื้นแนวตรง ด้วยการที่ลักษณะผิวพื้นทรงโค้งจะมีการกระจายตัวหรือเฉลี่ยแรงกดออกไปทางด้านข้างทั้งสองด้าน

ผิวภายนอกตัวตู้ได้รับการตกแต่งอย่างดีประดุจเฟอร์นิเจอร์ชิ้นหรูระดับเดียวกับการผลิตเปียโน ใช้ไม้แท้ (real wood veneer) ที่ผ่านการคัดเลือกลายไม้ด้วยมือเป็นวัสดุปะผิว และยังได้รับการพ่นสีและเคลือบทับแลคเกอร์หนาหลายชั้นแล้วปล่อยให้แห้งโดยธรรมชาติ The Opus series จึงให้ทั้งความสวยงามควบคู่ความทนทาน

ตัวขับเสียง-The Driver Units

ตัวขับเสียงความถี่ต่ำ - ได้รับการออกแบบรูปทรงกรวยขึ้นใหม่ล่าสุดด้วยกระบวนการ Bi-carbon weave process ที่ Wharfedale ได้พัฒนาขึ้นเอง ด้วยการใช้วัสดุ Carbon-fiber ที่ขึ้นชื่อในความเหนียวและแข็งแกร่งในขณะที่มีน้ำหนักเบามาก จนได้ถูกเลือกใช้เป็น ตัวถังรถแข่ง Formula 1 มาทำการถักประสานกันเป็นโครงสร้างตัวกรวยลำโพง แล้วเคลือบทับด้วยวัสดุเรซิน (Resin) เพื่อช่วยการคงสภาพทางโครงสร้างของตัวกรวย

เนื่องด้วยความเบาควบคู่ความแข็งแกร่ง จึงทำให้ตัวขับเสียงความถี่ต่ำของ The Opus series มีความฉับไวในการตอบสนองความถี่ แม้ในรายละเอียดสัญญาณเล็กๆ น้อยๆ ที่มีค่าความแรงสัญญาณไม่มากนัก ทั้งคุณสมบัติเหล่านี้ยังช่วยให้ตัวขับเสียงความถี่ต่ำ มีค่าความผิดเพี้ยนทางเสียงที่ต่ำเป็นพิเศษ แม่เหล็ก Ferrite แบบใหม่ให้ค่าความเข้มเส้นแรงแม่เหล็กสูง พร้อมด้วยช่องเจาะพิเศษเปิดทะลุก้นแม่เหล็ก ช่วยลดแรงต้านด้านหลังวอยซ์คอยล์

นอกจากนี้ดัสท์แค็ปก็ยังเป็น Carbon-fiber เช่นเดียวกับตัวกรวยอีกด้วย จึงไม่ส่งผลความแตกต่างกันทางบุคลิกเสียงแม้กระทั่งค่าทางเฟสเสียงก็ตามที ขอบกรวยลำโพงที่ใช้ใน The Opus series เป็น Butyl Rubber เนื้อยางแท้ธรรมชาติที่ให้ความยืดหยุ่นตัวสูงเป็นพิเศษ และมีค่ากักเก็บพลังงานที่ดี จึงไม่มีแรงกระทำย้อนกลับไปกระทบต่อประสิทธิภาพโดยรวมของตัวกรวย ส่วนวอยซ์คอยล์นั้นเป็น Half hard aluminium และพันอยู่บน resin bonded glass fibre ที่ให้ประสิทธิภาพในการส่งผ่านสัญญาณไฟฟ้าได้ดีในขณะที่มีการระบายถ่ายเทความร้อนที่ดีมากควบคู่กันด้วย ทำให้สามารถรองรับกำลังขับได้มากกว่าปกติธรรมดา

ตัวขับเสียงความถี่กลาง - แบบ Soft Dome ขนาด 3 นิ้วระดับเดียวกับที่ออกแบบใช้ในสตูดิโอ ซึ่งขนาดของวอยซ์คอยล์ก็ใหญ่พอๆ กับตัวโดมคือ 3 นิ้วกันเลยทีเดียว เจ้าวอยซ์คอยล์นี้เป็น Half hard aluminium และพันอยู่บน resin bonded glass fibre เช่นเดียวกับวูฟเฟอร์ ให้คุณภาพเสียงที่เป็นกลางเคียงคู่ความผิดเพี้ยนทางเสียงที่ต่ำ (ไม่ถึง 1%) จึงให้ความแม่นยำสูงในการตอบสนองความถี่ ทั้งยังมีค่าความไวเสียงที่สูงมากถึงระดับ 100 dB

ตัวขับเสียงความถี่กลางนี้ จะมีลักษณะส่วนหน้าที่เป็นเหมือน 'ฮอร์น' ติดตั้งเอาไว้ เพื่อช่วยในการสร้างมุมกระจายเสียงอันกว้างขวาง เจ้าฮอร์นนี้ผลิตขึ้นจากแผ่นอะลูมิเนียมตันจึงแข็งแกร่งและไม่สะสมแรงสั่นสะเทือน ทั้งยังช่วยเสริมแรงยึดติดกับผนังตัวตู้ด้านหน้าได้อย่างมั่นคงยิ่งขึ้นด้วย การทำงานของตัวโดม จึงเที่ยงตรงสุดยอด

ตัวขับเสียงความถี่สูง - เป็นแบบโดมอ่อน (Soft Dome) ขนาด 1 นิ้ว ซึ่งจากประสบการณ์และการศึกษาของ Wharfedale พบว่า ให้คุณภาพเสียงที่ดีกว่าทวีตเตอร์แบบโดมโลหะ ซึ่งมีลักษณะเฉพาะทางเสียงตามคุณสมบัติของโลหะชนิดนั้นๆ ทวีตเตอร์ที่ใช้ใน Opus นี้ ได้รับการออกแบบให้มีการกระจายเสียงครอบคลุมพื้นที่ได้อย่างกว้างขวาง รองรับได้กับมุมกระจายเสียงของมิดเรนจ์ได้อย่างเหมาะสม พร้อมด้วยค่าความผิดเพี้ยนทางเสียงที่ต่ำเป็นพิเศษ (ไม่ถึง 1% ที่ระดับความดังเสียง 100 dB) โครงสร้างแม่เหล็กเป็น Neodymium ที่มีค่าความเข้มเส้นแรงแม่เหล็กสูงมาก จึงให้แรงผลักในการขับเคลื่อนตัวโดมทวีตเตอร์ได้อย่างฉับไว รวมทั้งค่าความไวเสียงที่ดีเยี่ยมเป็นพิเศษถึง 93 ดีบี/วัตต์/เมตร แต่ที่พิเศษสุดๆ ก็คือ ทวีตเตอร์นี้สามารถครอบคลุมช่วงความถี่ตอบสนองขึ้นไปได้สูงถึง 45 kHz

สิ่งที่น่าสนใจกว่านั้นยังมีอีก เพราะเคล็ดลับลำโพงทุกรุ่น อยู่ที่วงจรตัดแบ่งความถี่ที่เป็นตัวกำหนดขอบเขตการทำงานไดรเวอร์