คลื่นการเมืองในพม่า(Makong Corridor / ทรงฤทธิ์ โพนเงิน )
หนึ่งวันก่อนที่จะเกิดคลื่นยักษ์สึมามิถล่มชายหาดหลายประเทศในเอเชีย ซึ่งรวมถึงชายฝั่งภาคใต้ของพม่าด้วยนั้น ได้เกิดเหตุระเบิดที่เมืองผาอ่างในรัฐกะเหรี่ยง ทางภาคตะวันออกของพม่าใกล้ชายแดนไทย แรงระเบิดส่งผลให้นักศึกษามหาวิทยาลัยคนหนึ่งเสียชีวิต และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีก 3 คน
การวางระเบิดในคราวนี้นับว่าแยบยลอย่างยิ่ง เพราะมือระเบิดเอาระเบิดยัดใส่เครื่องเล่นเทปคาสเซ็ทแล้วเอาไปวางไว้ที่ร้านค้าแห่งหนึ่ง พอนักศึกษารายดังกล่าวไปเจอเข้าก็ไปกดเล่นจึงเกิดระเบิดขึ้นมาอย่างไม่รู้เนื้อรู้ตัว ส่วนตำรวจพม่านั้นก็ยังจับมือใครดมไม่ได้จนถึงขณะนี้
ระเบิดคราวนี้นับเป็นครั้งที่สองที่เกิดขึ้นในช่วงสัปดาห์เดียวกัน โดยครั้งก่อนเกิดขึ้นที่ร้านอาหารแห่งหนึ่งในกรุงย่างกุ้ง ซึ่งก็เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตไป 1 คน โดยเจ้าหน้าที่พม่าก็ยังไม่สามารถติดตามจับกุมผู้ต้องสงสัยได้เลยเช่นเดียวกัน
แต่ถึงกระนั้น รัฐบาลทหารพม่าก็ได้ชี้นิ้วไปที่กองกำลังชนกลุ่มน้อย ว่าเป็นผู้ที่อยู่เบื้องหลังเหตุระเบิดทั้งสองครั้งดังกล่าวนี้ ในขณะที่ทั้งกองกำลังชนกลุ่มน้อยและพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ของ ออง ซาน ซูจี ก็ได้ออกมาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าวนี้ พร้อมทั้งยังได้ประณามการก่อเหตุระเบิดทั้งสองครั้งนี้อีกด้วย
ในเมื่อว่ายังคงไม่มีฝ่ายใดแสดงการรับผิดชอบต่อเหตุระเบิดที่เกิดขึ้น ดังกล่าวนี้ย่อมอาจจะทำให้สามารถมองได้ว่าเป็นการลอบวางระเบิดที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งที่มีอยู่ภายในคณะทหารในกรุงย่างกุ้ง ได้เช่นกัน
เพราะหลังจากที่ได้มีการปลด พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในเดือนตุลาคมปีที่แล้วนั้น การเมืองในพม่าหาได้หยุดนิ่งแต่อย่างใด หากแต่ได้เกิดคลื่นซัดสาดเข้าหากันอยู่ตลอดเวลา ดังจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากการดำเนินมาตรการตามล่าเพื่อล้างบางเครือข่ายอำนาจของพล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ อย่างต่อเนื่อง โดยคณะทหารในสายอำนาจของพล.อ.อาวุโส ตัน ฉ่วย และ หม่อง เอ ซึ่งคุมอำนาจอยู่ในเวลานี้
เมื่อต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมานี้มีรายงานข่าวว่า ได้มีการจับกุมนายทหารฝ่ายข่าวกรองที่เคยเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของ พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ เพิ่มขึ้นอีกหลายสิบคน พร้อมทั้งยังมีการตั้งข้อหาในคดีอาญาร้ายแรงหลายกระทง โดยคดีส่วนใหญ่นั้นเป็นความผิดที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ เช่นการลักลอบแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นต้น
ทั้งนี้ โดยมีนายทหารสายข่าวกรอง 26 คนเป็นอย่างน้อย ที่ถูกจับกุมหลังจากที่มีการปลด พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และหลายคนในจำนวนนี้ยังต้องถูกยึดทรัพย์เช่นเดียวกับลูกชายสองคนของ พล.อ.ขิ่น ยุ้นต์ ซึ่งยังต้องถูกจับกุมคุมขังและกักบริเวณไว้ในบ้านพักอีกด้วย
คนในสาย ขิ่น ยุ้นต์ ที่ถูกเขี่ยออกจากเส้นทางอำนาจก่อนหน้านี้ ที่ชื่อเสียงพอเป็นที่คุ้นหูอยู่ก็มีเป็นจำนวนมาก เป็นต้นว่า รัฐมนตรีมหาดไทย ติน เลียง, รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ติน วิน และรองหัวหน้าข่าวกรอง จอ วิน พร้อมด้วยลูกน้องของเขาประมาณ 1,500 คน ก็ถูกปลด และทหารสายข่าวกรองอีกประมาณ 2,500 คนในระดับล่างลงมา ถูกย้ายไปประจำการในหน่วยอื่นๆ
การล้างบางดังกล่าวนี้ยังได้ขยายวงไปถึงบรรดาเจ้าหน้าที่หน่วยงานอื่นๆ อีกด้วย เป็นต้นว่าศุลกากร หรือตรวจคนเข้าเมืองที่มีประวัติว่าเคยสังกัดหน่วยข่าวกรองหรือมีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนของ ขิ่น ยุ้นต์ ก็มีอันต้องประสบชะตากรรมเดียวกัน
สำนักข่าวกรองทหาร (Military Intelligence Service - MIS) ที่ ขิ่น ยุ้นต์ ตั้งขึ้นนั้น ในตอนนี้อยู่ในความดูแลของ มินต์ ฉ่วย ผู้บัญชาการกองกำลังรักษากรุงย่างกุ้ง ผู้ที่ยกกำลังเขายึดอำนาจ ขิ่น ยุ้นต์ นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม หน่วย MIS ดังกล่าวนี้ ก็ได้ถูกเปลี่ยนชื่อมาเป็น Sa Ya Kha และกำลังทำการฝึกอบรมกำลังตำรวจสันติบาลเพื่อให้ทำหน้าที่ในการหาข่าวทางด้านความมั่นคงทั่วไป เพื่อเสริมเข้าไปในสังกัดกระทรวงมหาดไทยอีกด้วย
คณะทหารในสายอำนาจของ ตัน ฉ่วย และ หม่อง เอ ได้ดำเนินการในทุกวิถีทางเพื่อขุดรากถอนโคนเส้นสายอำนาจของ ขิ่น ยุ้นต์ ให้ได้อย่างราบคาบ แต่ถึงกระนั้นกลับยังมีกระแสข่าววงในเกิดขึ้นอย่างหนาหูว่า ทหารในสายของ ขิ่น ยุ้นต์ นั้น ยังไม่ละความพยายามที่จะยึดอำนาจกลับคืนมา ดังนั้น การเกิดระเบิดขึ้นทั้งสองครั้งดังกล่าว ก็อาจจะเป็นสิ่งที่สะท้อนถึงสถานการณ์เช่นนี้ก็เป็นได้
นอกจากนี้ การประชุมสมัชชาแห่งชาติเพื่อการร่างรัฐธรรมนูญรอบใหม่ที่จะมีขึ้นในวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ ยังมีนัยว่าเป็นการเร่งรัดการร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จ เพื่อพิสูจน์ว่าแผน 7 ขั้นตอนหรือ Road Map นั้น ไม่ได้เป็นสมบัติส่วนตัวของ ขิ่น ยุ้นต์ อีกด้วย
แต่ทว่า การเปิดสมัชชาแห่งชาติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญในครั้งใหม่นี้ อาจจะไม่มีเนื้อหาและสาระสำคัญอะไรต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในพม่ามากนัก เพราะฝ่ายค้านอย่างพรรคสันนิบาตฯของ ออง ซาน ซูจี ยังคงไม่ได้เข้าร่วม และ ออง ซาน ซูจี รวมถึงสมาชิกพรรคหลายคนก็ยังไม่ได้รับการปล่อยตัวจากที่คุมขังอีกต่างหาก
ส่วนบรรดาชนกลุ่มน้อยที่มีกำลังอาวุธต่อสู้กับรัฐบาลพม่ามาเป็นเวลานานแล้วนั้น ก็ดูเหมือนจะไม่ถูกจัดอยู่ในสมัชชาร่างรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด และอาจจะไม่มีโอกาสตลอดไปก็เป็นได้
เพราะการที่ทหารพม่าได้บุกโจมตีฐานที่มั่นของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ในระยะนี้ ย่อมถือเป็นความพยายามที่จะล้มการเจรจาสันติภาพระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับฝ่ายกะเหรี่ยงที่เกิดขึ้นในช่วงที่ ขิ่น ยุ้นต์ มีอำนาจนั่นเอง
แน่นอนว่านายทหารอย่าง ตัน ฉ่วย และ หม่อง เอ ซึ่งมีประสบการณ์ในการสู้รบกับฝ่ายกะเหรี่ยงมาก่อนนั้น ย่อมเชื่อมั่นว่าพวกตนสามารถที่จะเผด็จศึกชนกลุ่มน้อยได้โดยไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเจรจาอีกต่อไป
ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีกระแสข่าวเกิดขึ้นตามแนวชายแดนด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่ระบุว่า ทหารพม่ากำลังเตรียมการที่จะเปิดศึกกับกลุ่มคะยา KNPP หรือ Karenni National Progressive Party ด้วยเช่นกัน
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้บรรดาชนกลุ่มน้อย สูญสิ้นศรัทธาหมดความเชื่อถือในสัญญาของฝ่ายทหารพม่า โดยต่างก็พากันตั้งการ์ดเพื่อเตรียมรับมือกับฝ่ายทหารพม่าอย่างเต็มที่แล้วเช่นเดียวกัน
เพราะเมื่อไม่มี ขิ่น ยุ้นต์ อยู่ในอำนาจแล้ว จึงทำให้ชนกลุ่มน้อยทุกกลุ่มต่างมองว่าไม่มีองค์ประกอบใดในระบบการเมืองพม่าที่มีแนวคิดในเรื่องการสร้างสันติภาพด้วยวิถีทางทางการเมืองแล้ว หากแต่ผู้นำพม่าในเวลานี้เชื่อมั่นในวิธีการทางทหารและกำลังรบของพวกตนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
คลื่นทางการเมืองภายในพม่าคราวนี้ คงจะพัดกวาดเอาศัตรูทางการเมืองให้ล้มหายตายจากวงโคจรไปเป็นจำนวนมากในระยะอันใกล้นี้
ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องสลักสำคัญอะไรสำหรับในสายตาของรัฐบาลทหารพม่า ที่จะมีชาวพม่าเสียชีวิตไปกับคลื่นยักษ์สึนามิเพียงไม่กี่คน ทั้งยังไม่จำเป็นต้องรำพึงรำพันที่จะต้องตรวจ DNA ให้วุ่นวายด้วย
เพราะแม้แต่คนที่ยังไม่ตาย ทหารพม่าก็ยังได้ทำการฝังมาจนนับไม่ถ้วนแล้ว!!!
: หนองปลาปาก : ตำบลกวนวัน : ตำบลในเมือง : ตำบลค่ายบกหวาน : ตำบลบ้านเดื่อ : ตำบลพระธาตุบังพวน : ตำบลปะโค : ตำบลโพนสว่าง : ตำบลโพธิ์ชัย : ตำบลเมืองหมี : ตำบลมีชัย : ตำบลเวียงคุก : ตำบลวัดธาตุ : ตำบลสีกาย : ตำบลหาดคำ : ตำบลหนองกอมเกาะ : ตำบลหินโงม : ตำบลกุดบง : ตำบลชุมช้าง : ตำบลจุมพล : ตำบลทุ่งหลวง : ตำบลเซิม : ตำบลนาหนัง : ตำบลบ้านโพธิ์ : ตำบลบ้านผือ : ตำบลวัดหลวง : ตำบลสร้างนางขาว : ตำบลเหล่าต่างคำ : ตำบลกองนาง : ตำบลท่าบ่อ : ตำบลโคกคอน : ตำบลน้ำโมง : ตำบลนาข่า : ตำบลบ้านเดื่อ : ตำบลบ้านถ่อน : ตำบลโพนสา : ตำบลบ้านว่าน : ตำบลหนองนาง : ตำบลนาดี : ตำบลเฝ้าไร่ : ตำบลหนองหลวง : ตำบลวังหลวง : ตำบลอุดมพร : ตำบลบ้านต้อน : ตำบลนาทับไฮ : ตำบลพระบาทนาสิงห์ : ตำบลโพนแพง : ตำบลบ้านหม้อ : ตำบลรัตนวาปี : ตำบลพระพุทธบาท : ตำบลพานพร้าว : ตำบลแก้งไก่ : ตำบลบ้านม่วง : ตำบลนางิ้ว : ตำบลผาตั้ง : ตำบลสังคม : ตำบลโพนทอง : ตำบลด่านศรีสุข : ตำบลโพธิ์ตาก : ตำบลสระใคร : ตำบลบ้านฝาง : ตำบลคอกช้าง
วันอาทิตย์ที่ 12 ธันวาคม พ.ศ. 2553
คลื่นการเมืองในพม่า(Makong Corridor / ทรงฤทธิ์ โพนเงิน )
เขียนโดย
Thai Writer
ที่
00:32
ส่งอีเมลข้อมูลนี้BlogThis!แชร์ไปยัง Xแชร์ไปที่ Facebookแชร์ใน Pinterest
เรื่องน่าสนใจเกี่ยวเนื่องกัน:
ป้ายกำกับ:
อาเซียน