เพิ่มคำอธิบายภาพ |
ส.อบจ.หนองคาย วัย 69 ปี อดีตกำนันพานพร้าว เล่าความประทับใจที่สุดในชีวิต เฝ้าฯ รับเสด็จ "ในหลวง รัชกาลที่ 9" 9 ครั้ง ทรงจำได้ ขณะที่ หญิงหนองคายปลื้มปีติ พระหัตถ์เคยประทับบนหัว บอกเป็นสิริมงคลสูงสุด
นายเสถียร มีบุญ อายุ 69 ปี อยู่บ้านเลขที่ 29 หมู่ 13 ต.พานพร้าว อ.ศรีเชียงใหม่ ส.อบจ.หนองคาย ซึ่งเป็นบุคคลในภาพที่เคยเฝ้าฯ รับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อครั้งเสด็จพระราชดำเนินพื้นที่ จ.หนองคาย ถึง 9 ครั้ง นำกรอบรูปที่เก็บไว้ที่บ้านอย่างดีมาให้ดู และมีการนำภาพขยายขนาดใหญ่ติดไว้ในบ้านด้วย
นายเสถียร เปิดใจว่า มีโอกาสเฝ้าฯ รับเสด็จกับพ่อแม่ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ พระองค์เสด็จพระราชดำเนินมายังอำเภอต่างๆ ของ จ.หนองคาย ประมาณ 10 ครั้ง จนเมื่อ พ.ศ. 2535 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินกราบนมัสการ และสนทนาธรรมกับ หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี ที่วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย ในขณะนั้นเป็นกำนันตำบลพานพร้าว และเป็นวิทยากรลูกเสือชาวบ้าน ใส่ชุดลูกเสือไปเฝ้าฯ รับเสด็จ ภายหลังสนทนาธรรมเสร็จ ได้พระราชดำเนินมาหาประชาชน โดยพระองค์ได้ทรงหยุดที่ตรงหน้าตน ตรัสถามว่า "เป็นลูกเสือใช่ไหม" ตนตอบว่า ครับ และถวายรายงานว่าเป็นวิทยากรให้กับชาวเวียดนามที่อยู่ใน อ.ศรีเชียงใหม่ ได้ฝึกเป็นลูกเสือชาวบ้านตามโครงการลูกเสือชาวบ้านรวมใจภักดิ์ ในครั้งนั้นรู้สึกปลาบปลื้มใจมาก
ต่อมา พ.ศ. 2539 เป็นอีกครั้งที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินมาที่วัดหินหมากเป้ง เมื่อสนทนาธรรมเสร็จ พระองค์พระราชดำเนินมาหาประชาชนที่รอเฝ้าฯ รับเสด็จอยู่ด้านนอกศาลาวัด วินาทีนั้น พระองค์พระราชดำเนินตรงมาหาแล้วตรัสว่า "กำนันสบายดีไหม" ทำให้รู้สึกซาบซึ้งตื้นตันใจจนพูดไม่ออก ไม่นึกว่าพระองค์จะจดจำได้ ทรงย่อพระวรกายลงแล้วตรัสถามอีกว่า "ประชาชนทำอะไร ปลูกอะไรกันบ้าง และมีอะไรที่จะให้ช่วยบ้าง" จึงถวายรายงานข้อมูลด้านการเกษตรและความต้องการน้ำเพื่อการเพาะปลูก โดยใช้เวลานานถึง 45 นาที ทรงสดับอย่างตั้งพระราชหฤทัย ขณะนั้น เวลาประมาณ 19.00 น. พระองค์ยังเสด็จฯ ไปโครงการในพระราชดำริห้วยทอนตอนบน ที่อยู่ห่างออกไปอีกประมาณ 20 กม. ท่ามกลางความมืด และเส้นทางทุรกันดาร หาแนวทางพัฒนาเส้นทางน้ำเพื่อการเกษตรให้กับประชาชน กระทั่ง พ.ศ. 2558 เมื่อมีการประกาศตามหาบุคคลในภาพ ซึ่งตนเป็นหนึ่งในนั้น ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าฯ ที่โรงพยาบาลศิริราช ทรงตรัสถามทุกคนที่เข้าเฝ้าฯ ว่า "สบายดีไหม" เป็นอีกครั้งที่สร้างความปลื้มปีติเป็นล้นพ้น
สำหรับข่าวการสวรรคต นายเสถียร เผยว่า "รู้สึกเหมือนวิญญาณโดนกระชาก นำมาซึ่งความเศร้าโศกเสียใจเป็นอย่างมาก สุดที่จะพรรณนาได้ นับจากนี้จะขอเป็นคนดี ทำแต่สิ่งดี เดินตามรอยเบื้องพระยุคลบาท จนกว่าชีวิตจะหาไม่"
ทางด้าน น.ส.เกวลี พิลาคง อายุ 68 ปี อยู่บ้านเลขที่ 373 หมู่ 13 ต.พานพร้าว อ.ศรีเชียงใหม่ จ.หนองคาย นำรูปจากหนังสือพิมพ์ฉบับวันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2513 ที่อัดกรอบมาให้ผู้สื่อข่าวดู เป็นพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ขณะทักทายประชาชน และยื่นพระหัตถ์ลูบศีรษะผู้หญิงคนหนึ่ง ซึ่งก็คือ น.ส.เกวลี
น.ส.เกวลี กล่าวว่า เมื่อ พ.ศ. 2513 พื้นที่บ้านนางิ้ว อ.สังคม จ.หนองคาย เกิดน้ำป่าไหลหลากท่วมบ้านเรือน มีประชาชนล้มตายกว่า 20 คน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จพระราชดำเนินมายัง อ.สังคม เพื่อปลอบขวัญประชาชน ตนและครอบครัวนั่งรถกระบะเพื่อนบ้านไปเฝ้าฯ รับเสด็จตั้งแต่เช้า จนถึงช่วงบ่าย ทั้ง 2 พระองค์พระราชดำเนินมาถึงหน้าตน มีลุงคนหนึ่งนั่งอยู่ข้างกัน ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน พูดขึ้นว่า "ผมไม่มีลูกเมีย ขอพระบารมีในหลวง ให้กับเด็กคนนี้หน่อย" ซึ่งหมายถึงตน จากนั้นลุงก็คว้าพระหัตถ์ของพระองค์มาลูบหัวของตนเอง ตนก็ก้มลงกราบ นำมาซึ่งความปลาบปลื้ม และเป็นสิริมงคลแก่ชีวิตเป็นอย่างมาก
ทั้งนี้ เมื่อรู้ว่าพระองค์เสด็จสวรรคต ก็ทำอะไรไม่ถูก พูดอะไรไม่ออก รู้สึกเศร้าเสียใจเกินกว่าที่จะรับได้ และแม้ว่าขณะนี้สุขภาพจะไม่เอื้ออำนวย ร่างกายไม่แข็งแรง เดินลำบาก ก็อยากจะเล่าถึงความเป็นที่สุดในชีวิตของตัวเองครั้งหนึ่งในชีวิต และจะยึดมั่นคำสั่งสอนของพระองค์มาเป็นเครื่องเตือนใจและทำตามให้ดีที่สุด.
ข่าวจาก นสพ ไทยรัฐ